คุมเข้ม 7 วันอันตราย เมาแล้วขับเลี่ยงเป่า โดนปรับทีละพันฐานขัดขืน

 

ตำรวจทางหลวงคุมเข้ม 7 วันอันตราย ตั้งด่านจับเมาแล้วขับทั่วประเทศช่วงปีใหม่ เลี่ยงเป่าโดนปรับทีละพันฐานขัดขืน

พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ แสงเพชร ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) เปิดเผยว่า ในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ จะเน้นรณรงค์ 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2555 ถึง 2 มกราคม 2556 ตำรวจทางหลวงจะเป็นกำลังสนับสนุนตั้งด่านตรวจทั่วประเทศ ตั้งจุดตรวจตามอำเภอเมืองต่างๆ พร้อมอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจจับความเร็ว โดยจัดเป็นเต็นท์เฉพาะกิจร่วมกับฝ่ายปกครอง เพื่อสุ่มตรวจรถยนต์เป้าหมาย หากพบรถคันไหนน่าสงสัยจะขอให้ผู้ขับขี่เป่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ หากตรวจพบว่าปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะส่งตำรวจท้องที่ดำเนินคดี

พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์กล่าวต่อว่า ด้านอุปกรณ์เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์ ปกติมีประจำอยู่ทุกโรงพักอยู่แล้ว ส่วนในสังกัด บก.ทล.ทั่วประเทศมีทั้งหมด 44 สถานี ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน มีการทดสอบประสิทธิภาพให้ได้ค่ามาตรฐานทุกๆ ปี สำหรับช่วงเวลาการตั้งด่านจะตั้งทั้งวัน แต่จะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นผลัดๆ ซึ่งช่วงหัวค่ำและช่วงกลางดึกจะพบว่ามีผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดเป็นจำนวนมาก และปริมาณแอลกอฮอล์สูงมากเป็นพิเศษ

“ปัญหาที่พบคือ ประชาชนหัวหมอไม่ยอมเป่า ก็จะให้เจ้าหน้าที่เจรจาทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากไม่เป่าเราจะสันนิษฐานว่าดื่มสุรามา เมื่อเจรจาแล้วยังไม่ยอมเป่าอีก เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดลหุโทษ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หากสั่งปรับแล้วยังไม่ยอมเป่าอีก จะปรับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยอมเป่า บางรายต้องพูดและทำความเข้าใจอยู่นาน บางครั้งเราก็ผ่อนผันให้หากพบปริมาณแอลกอฮอล์ไม่มาก จะให้นั่งพักผ่อนดื่มน้ำแล้วค่อยให้เป่าอีกครั้ง แต่หากเป่าครั้งที่สอง ยังมีปริมาณเกินกฎหมายกำหนดจะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี” ผบก.ทล.กล่าว

พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเพิ่มโทษนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว หากพบว่าผู้ขับขี่เคยกระทำผิดแล้วครั้งแรก และอยู่ระหว่างศาลรอลงอาญา หากกระทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 จะบวกเพิ่มโทษไป เช่น ครั้งแรกศาลสั่งจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา ระหว่างนั้นมากระทำผิดอีกจะบวกเพิ่มโทษของครั้งแรกไปด้วย และศาลสั่งจำคุกทันทีไม่มีการรอลงอาญา นอกจากนี้ได้มีการออกกฎหมายใหม่ตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความผิดจะครอบคลุมไปถึงผู้ที่นั่งอยู่ในรถด้วย หากตรวจพบว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ทั้งผู้ขับขี่และผู้ที่ดื่มจะมีโทษด้วย โดยโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

“ตำรวจทางหลวงได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ แจกแผ่นพับใบปลิวให้กับประชาชนรับทราบถึงกฎหมายใหม่ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ขับรถแต่นั่งอยู่ในรถแล้วดื่มเบียร์หรือเหล้าก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ฝากเตือนประชาชนว่าตามเส้นทางเดินรถหรือภายในรถห้ามดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด” ผบก.ทล.เผย

สำหรับสถิติจับกุมเมาแล้วขับของ บก.ทล. พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์กล่าวว่า ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2555 พบว่า มีการตั้งจุดตรวจ ทั่วประเทศจำนวน 10,091 ครั้ง จับกุมดำเนินคดีในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราจำนวน 989 ราย ส่วนนโยบายในปี 2556 บก.ทล.จะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย หากมีการฝ่าฝืนไม่เชื่อฟังคำสั่งจะมีการจับกุมด้วย ซึ่งการเมาสุราและขับรถเร็วเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ เพราะการดื่มสุราทำให้การตัดสินใจช้าลงจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่น เมาแล้วขับรถกินเลนไปฝั่งตรงข้าม อีกฝ่ายขับรถมาดีๆ แต่กลับถูกชนจนลูกหลานพิการหรือเสียชีวิต กรณีแบบนี้ก็มีจำนวนมาก ขอฝากว่าหากดื่มแอลกอฮอล์อย่าขับรถกลับ ให้กลับแท็กซี่หรือเรียกให้คนอื่นมารับจะปลอดภัยกว่า

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท. เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กำกับดูแลงานจราจรกล่าวว่า สำหรับสถิติการจับกุมตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2555 ใน 13 ข้อหาหลัก อาทิ แข่งรถในทาง ขับรถเร็ว จอดรถในที่ห้ามจอด เมาแล้วขับ รวมทั้งสิ้น 123,782 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีเมาแล้วขับ 7,758 คดี ต้องส่งดำเนินคดีต่อศาลแขวง อัตราโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้เสียประวัติ ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ อย่างไรก็ตาม ศาลมักใช้ดุลพินิจให้บำเพ็ญประโยชน์แทนการลงโทษอย่างอื่น ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันทุกคนไทยบริโภคสุราปริมาณมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสัดส่วนของผู้หญิงดื่มสุรามากขึ้นเกือบเท่าผู้ชายแล้ว แต่สถิติการจับกุมเมาแล้วขับส่วนใหญ่เป็นเพศชายในวัยทำงาน รองลงมาคือนักศึกษา

พล.ต.ท.เรืองศักดิ์กล่าวต่อว่า อุปกรณ์ในการตรวจวัดแอลกอฮอล์มี 2 แบบ 2 ขั้นตอน แบบแรกเป็นเครื่องตรวจเบื้องต้น เพื่อดูว่าดื่มสุรามาหรือไม่ หากเครื่องแสดงปฏิกิริยาจะเข้าสู่การตรวจด้วยเครื่องแบบที่ 2 เป็นเครื่องเป่าลมแบบพิมพ์ผล หากเป่าแล้วปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด สามารถพิมพ์ผลออกมาได้ทันที ซึ่งในการปฏิบัติบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจเลือกใช้เครื่องแบบที่ 2 เลย เพราะขั้นตอนแรกบางครั้งสามารถสังเกตได้จากอากัปกิริยา กลิ่น การพูดจาต่างๆ ก็ทราบแล้วว่าผ่านการดื่มแอลกอฮอล์มา ปัจจุบันใน กทม.มีเครื่องตรวจวัดแอลกฮอล์แบบพิมพ์ผลใช้อยู่ 200 เครื่อง แบ่งเป็นในสังกัดบังคับการตำรวจจราจร จำนวน 111 เครื่อง และตามกองบังคับการต่างๆ อีก 89 เครื่อง เพียงพอต่อการใช้งาน อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจวัดจะต้องมีการส่งวัดความเที่ยงตรงแม่นยำต่อกระทรวงสาธารณสุขทุก 6 เดือน

พล.ต.ท.เรืองศักดิ์กล่าวว่า ในการตรวจวัดแอลกอฮอล์พบปัญหาหลายอย่าง เพราะต้องเผชิญกับคนเมาสุรา บางคนค่อนข้างขาดสติ โวยวายด่าทอเจ้าหน้าที่ ปฏิเสธการตรวจ บางคนขับรถเจอด่านแล้วไม่ยอมลงจากรถ กักตัวเองไว้ในรถ พฤติกรรมเหล่านี้คาบเกี่ยวกับความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรด้วย

“การปฏิเสธการตรวจ ทำให้ตำรวจที่ทำงานตรงนี้ลำบากใจ บางรายถึงขั้นขับรถพุ่งชนตำรวจ ขับรถหนี แหกด่าน กรณีเช่นนี้มีมาก ตำรวจที่ทำงานตรงนี้ต้องใช้ความอดทนสูง ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุทางท้องถนนและการสูญเสียลงให้ได้อย่างน้อยลงร้อยละ 5 การตั้งด่านตรวจเมาห้ามขับจะเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ลดอุบัติเหตุ” พล.ต.ท.เรืองศักดิ์กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code