คุณแม่วัยใส ใจต้องเข้มแข็ง
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญเกิดจากการลอกเลียนพฤติกรรมในหมู่เพื่อน คนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่าอาย ไม่กล้าปรึกษาครอบครัวหรือผู้อื่น ทำให้ไม่ได้รับความรู้และทักษะในการป้องกันอย่างถูกต้อง
รายงานสถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นในประเทศไทย ในปี 2558 พบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเพิ่มขึ้นเป็น 104,289 คน จากประมาณ 90,000 คน ในปี 2543 ในจำนวนดังกล่าวเป็นวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,988 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
จากโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรณีศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และปวช. 1-3 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 หัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,053 ตัวอย่าง พบสาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีดังนี้
ผลที่ตามมาของคุณแม่วัยใส
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ส่งผลให้เยาวชนต้องยุติการเรียนในภาคปกติไป หลังจากนั้นบางคนอาจเลือกเรียนต่อในการศึกษาภาคพิเศษ หรืออาจหยุดการเรียนเอาไว้เท่านั้น ซึ่งในคนที่เลือกที่จะเรียนต่อบางคนอาจต้องพักการเรียนไว้เป็นปีๆ จากความไม่พร้อมที่ต้องเลี้ยงลูกและทัศนคติในเชิงตำหนิจากคนรอบข้างและสังคม ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้แนวโน้มของการทำแท้งและการถอดทิ้งเด็กสูงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิด พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น:ปี 2559 ขึ้น
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึงการดำเนินงานของ สสส. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า สสส.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันถอดบทเรียนตัวอย่างจากประเทศอังกฤษที่เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนรณรงค์ โมเดลดังกล่าวมี 2 มาตรการใหญ่คือ 1) ให้วัยรุ่นได้รับการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน รวมถึงทักษะชีวิตกับเพื่อนต่างเพศ 2) มีการบริการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น สามารถเข้าถึงบริการและคำปรึกษาได้ ซึ่งประเทศไทยได้นำมาปรับใช้เป็น “ภารกิจ 9 ด้าน ” กับ 20 จังหวัดรวมถึงกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับพลังประชากรและครอบครัว
สิทธิประโยชน์ 5 ด้าน ที่สำคัญของ พ.ร.บ. คุณแม่วัยใส
1. สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษา คุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมและสวัสดิการสังคม
2. สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้ จัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งจัดการบริการที่ครอบคลุมสวัสดิการทางสังคมให้มีระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ
3. สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงการบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสวัสดิการด้านบริการสังคม
4. จัดให้มีการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
5. ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น
การป้องกัน กับคุณแม่วัยใส
1. เรียนรู้ทักษะการปฏิเสธ ไม่ไปกับเพื่อนต่างเพศในที่ลับตา
2. แต่งกายด้วยเสื้อผ้ามิดชิด ไม่ล่อแหลม
3. เรียนรู้จักวิธีป้องกันการคุมกำเนิดในหลายรูปแบบ เช่น การใส่ถุงยางอนามัยในผู้หญิง การคุมกำเนิดชนิดต่างๆ
4. พูดคุยกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด บอกเล่าความสัมพันธ์เรื่องเพื่อนต่างเพศให้ท่านทราบ
5. พ่อแม่เริ่มเปิดเผยพูดคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไม่เคอะเขิน เพราะหากลูกเลือกปรึกษาเพื่อนอาจได้คำแนะนำหรือการติดสินใจแก้ปัญหาในทางที่ผิด
6. เปลี่ยนทัศนคติที่ว่าการมีแฟนหรือการมีเพศสัมพันธ์เป็นแฟชั่น
7. ปรึกษากับผู้ที่ให้ความรู้ถูกต้องและชัดเจน เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสายด่วนปรึกษาเรื่องเพศ
จากโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นดังกล่าว ยังได้พบว่า หากเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับเพศวิถีศึกษาจะช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างจริงจัง ร้อยละ 88.2 ในขณะที่ร้อยละ 11.8 คิดว่าไม่สามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลเรื่องเพศศึกษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ควรสอดแทรกทักษะที่เด็กสามารถนำไปใช้ได้จริง อย่างทักษะการปฏิเสธตามสถานการณ์จริง ทั้งก่อนออกไปด้วยกันและในขณะช่วงเวลาสุ่มเสี่ยง สอนเรื่องการคุมกำเนิดในผู้หญิง สอนให้เพศหญิงรู้จักการใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบที่มีต่อคุณแม่วัยใส ทั้งจากผู้ให้บริการต่างๆ จากสังคมและคนรอบข้าง รวมถึงจากครู อาจารย์ในโรงเรียน
นอกจากนี้เยาวชนและครอบครัวที่ต้องการคำแนะนำ คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม สามารถโทรมาที่สายด่วนเรื่องเพศ 1663 ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของ สสส. และยังสามารถดาวน์โหลด หนังสือ “ ’ท้องไม่พร้อม’ แนวทางการปรึกษาทางเลือก” จาก สสส. ได้ทิ่ลิ้งค์นี้นะคะ http://bit.ly/2bLGQgd