คุณภาพชีวิตแม่ ใครดูแล….????
ตั้งแต่เล็กจนโตเคยสังเกตหรือไม่ว่า เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยใคร คือผู้ที่ใส่ใจดูแลเรา เวลาเราหิว ใครคือผู้สรรหาอาหารมีประโยชน์มาให้เรา แทบจะทุกอย่างในบ้านที่เธอผู้นี้คอยดูแลรับผิดชอบ นั่นก็คือ “แม่” ที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาวะคนในครอบครัว
เมื่อเร็วๆ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง ผู้หญิง….หัวใจสุขภาพของสังคม ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ทัศนคติของผู้หญิงต่อบทบาทและคุณค่าของแม่กับการดูแลสุขภาวะตนเองและครอบครัว รวมถึงปัญหา อุปสรรคและทางแก้ไขเพื่อพัฒนาศักยภาพของสตรีและผู้เป็นแม่ โดย รศ.ดรวิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า สังคมมักมองว่าผู้หญิงเป็นแม่ได้โดยธรรมชาติ จากผลวิจัยแอแบคโพลล์ ที่ทำการสำรวจเพศหญิงที่มีอายุ 20- 59 ปี ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 1029 คน ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 1 ส.ค. 55 โดยกลุ่มตัวอย่างสมรส มีบุตร 53 % โสด 25.9% พบว่า ผู้หญิงไทย 68.7 % เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจเพียงผู้เดียวเลย ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะเป็นแม่ ภรรยาหรือเป็นลูกสาวก็ตาม การดูแลอาหารในบ้าน 71.8 % ทำอาหารเอง และให้ความสำคัญกับโภชนาการของลูกสูงถึง 74.2 % แต่ยังให้ความสำคัญน้อยกับการหลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบถึง 79% และในเรื่องการทำงานนอกบ้าน เต็มเวลา 50.9% และทำงานนอกบ้านบางช่วงเวลา 14.9% รวมไปถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 51.2% แต่ไม่เคยปั๊มนมในที่ทำงาน 71.4% จะเห็นได้ว่าภาระทั้งหมดในครอบครัว ฝากไว้ที่ผู้หญิงเป็นส่วนมาก สังคมมองเรื่องนี้เป็นความเคยชิน เป็นหน้าที่ที่ติดตัวผู้หญิงมา จึงไม่ค่อยมีการส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้ผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อใส่ใจสุขภาพคนในครอบครัวแล้วในทุกเรื่องแล้ว ผู้หญิงหรือแม่ก็น่าจะใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากเช่นกัน แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เมื่อมีการถามถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพตัวผู้หญิงเอง กลับไม่ค่อยสูง ค่อนข้างต่ำมาก โดยเฉพาะสุขภาพที่เป็นของผู้หญิงโดยตรง อย่างการตรวจมะเร็งมดลูก 42.6% ตอบว่าไม่เคยไปตรวจ มะเร็งเต้านม 49.6% ก็ไม่เคยไปตรวจเช่นกัน และยิ่งไปกว่านั้น 67.5% ไม่เคยไปตรวจสุขภาพเลย แถมไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสูงถึง 54.8%
“ตัวเลขเหล่านี้มันสะท้อนสิ่งต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่านิยมทางสังคมที่ยังฝากบทบาทในการดูแลสุขภาพไว้ที่ผู้หญิง แต่พอมาเป็นเรื่องสุขภาพของผู้หญิงเองกลับไม่ได้ให้ความสำคัญ ค่านิยมของทางสังคมยังไม่ได้ให้ใส่ใจตรงนี้มากนัก อีกประเด็นที่น่าสนใจ ถึงแม้ผู้หญิงจะใส่ใจสุขภาพคนรอบข้างรวมถึงตนเองนั้น แต่การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถทำบทบาทนี้ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นก็ยังน้อยอยู่ เช่น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้หญิงร้อยทั้งร้อยสนับสนุนและเห็นด้วย แต่ไม่เคยทำ ตรงนี้สะท้อนว่าโครงสร้างทางสังคมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก็ยังไม่ได้เป็นเอื้อให้ผู้หญิงทำสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้นเมื่อบริบทของสังคมยอมรับว่าผู้หญิงเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดีของคนในครอบครัวต่อไปถึงสังคมได้ สังคมเองก็ต้องช่วยกันโอบอุ้มและเอื้ออำนวยให้ผู้หญิงทำบทบาทนี้ได้อย่างมีคุณภาพ ทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะคนรอบข้างผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นคนรัก สามี พ่อ ลูก มองเรื่องของสุขภาพ คุณภาพชีวิตของทุกคนในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญและทุกคนมีบทบาทเท่ากันก็จะช่วยกันทำให้ทุกคนดีขึ้นได้” รศ.ดร. วิลาสินีกล่าว
ด้านคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่าง คุณแวร์โซว์ ณิชาภา แซ่โซว แม่ผู้มีลูกเป็นแรงบันดาลใจ บอกกับเราว่า หากดูจากผลสำรวจแล้วตัวเองเป็นหนึ่งในนั้น เพราะที่ผ่านมาการเลี้ยงลูกถือว่าไม่ดีเท่าที่ควร อาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม เรื่องของเวลา อย่างตอนที่น้องคลอดออกมาใหม่ๆ ตั้งใจอยากให้นมลูกถึง 6 เดือน แต่เมื่อทำจริงสามารถทำได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น ด้วยการเป็น Single mom ทุกอย่างอยู่ที่เรา นอนหลับไม่เพียงพอ แผลที่คลอดก็เกิดอาการเจ็บ และลูกก็หิวบ่อย ก็พยายามจนรู้สึกเหนื่อย เกิดภาวะเครียดก็ส่งผลให้ไม่มีน้ำนม จึงไปปรึกษาแพทย์และได้รับคำแนะนำให้ลูกดื่มนมแม่สลับกับนมผง ส่วนในเรื่องของการปรุงอาหารให้ลูกนั้น อาจมีเรื่องของการทำงานไม่เป็นเวลาเข้ามาเป็นปัจจัย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มันสูงกว่าการไปซื้อแบบปรุงสำเร็จแล้ว การซื้อทานจึงสะดวกกว่าแต่หากมีเวลาก็คิดว่าทำเองน่าจะดีต่อตัวลูกมากกว่า
“หากจะถามถึงการดูแลสุขภาพไม่ต้องพูดถึง หากเป็นเรื่องของลูกสามารถไปได้ตลอดเวลา แต่กับตัวเองใส่ใจน้อยมา เพราะด้วยการทำงานบวกกับการเลี้ยงลูกเต็ม พอมีเวลาว่างก็อยากพักผ่อนแทนที่จะดูแลเรื่องของสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงการดูแลตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราใส่ใจสุขภาพตัวเองไปพร้อมๆ กับคนในครอบครัวได้ เราก็จะได้อยู่กับคนที่เรารักไปได้อีกนานนะคะ” คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวกล่าว
เมื่อผู้หญิงรับภาระเกือบทั้งหมดในบ้านแบบนี้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิง โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้แนวทางแก้ไขว่า การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้หญิงนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างสมดุลทั้งเรื่องงานและครอบครัว โดยสังคมและครอบครัวสามารถช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยการทำความเข้าใจ สื่อสาร สนับสนุนและส่งเสริมผู้หญิง เริ่มจากพื้นฐานความเข้าใจว่า ทั้งการทำงานและครอบครัว ถือเป็นการสร้างผลผลิตทางสังคมหากมอง 2 มิติเกื้อกูลกัน ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงและสังคมก็จะดีขึ้น เพราะผู้หญิงสามารถจัดการทั้งตัวเองและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี หากสังคมการทำงานเอื้อให้ผู้หญิงสามารถรับผิดชอบครอบครัวไปพร้อมกันได้เช่น มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงลูก มีห้องปั๊มนมหรือกิจกรรมครอบครัว ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีและสังคมก็เป็นสุขด้วย
หากเราสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิงได้ เหมือนที่ผู้หญิงหรือผู้เป็นแม่สร้างให้กับเราและครอบครัว เชื่อเถอะคะว่า สังคมเราจะน่าอยู่และกลายเป็นสังคมที่มีสุขภาวะดีกันทั้งประเทศ วันแม่ปีนี้หากใครยังคิดไม่ออกว่าจะแสดงความรักกับแม่อย่างไร การใส่ใจสุขภาพของแม่ อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ดีได้นะคะ
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th