คุณค่าแห่งการดำรงอยู่ เส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตาย
ที่มา : เว็บไซต์ a day BULLETIN
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ a day BULLETIN
รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ | คุณค่าแห่งการดำรงอยู่ เส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตาย ในสายตาแพทย์ผู้รักษา
‘เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า’ ทุกคนต่างก็รู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาระยะสุดท้ายของชีวิต เราก็ควรอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมายมากที่สุด แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่มองเรื่องความตายเป็นสิ่งต้องห้าม ไกลตัว และไม่ขอพูดถึงเพราะเป็นเรื่องอัปมงคล ทำให้คนหนุ่มสาวละเลยมองข้าม ในขณะเดียวกัน คนแก่ชรา คนเจ็บป่วยหนัก ก็เสียสิทธิ ขาดโอกาส ไปจนถึงความไม่รู้ เข้าไม่ถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง ทำให้ระยะสุดท้ายของคนที่เรารัก ขาดแคลนทั้งความสุขทางกายและทางใจ เขาไม่สามารถสะสางสิ่งที่คับข้องใจ อีกทั้งร่างกายยังทุกข์ทรมานเกินจำเป็น ภาพเหล่านี้เราเริ่มมองเห็นมากขึ้น และรู้สึกว่าคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีๆ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นระดับทั้งสังคม
a day BULLETIN จึงมาจับเข่าคุยกับ รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เขายังเป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยผลักดันเพื่อให้เรารู้จักกับการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care หลักการที่จะช่วยเปิดทัศนคติใหม่ของความตายว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตให้ทั้งผู้ป่วยและคนที่อยู่ต่อได้
การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care จริงๆ แล้วคืออะไรและสำคัญอย่างไร
การดูแลแบบประคับประคองนั้นไม่ได้ยุ่งยากหรือสร้างความลำบากใจอะไรเลย ถ้าเรารู้หลักการคร่าวๆ และเข้าใจวิธีการ ซึ่งก็คือการดูแลผู้ป่วยทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ ภาวะทางสังคม และเรื่องของจิตวิญญาณ เข้าใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร และทำให้เขาเห็นว่าเราพยายามช่วยเหลือไม่ทอดทิ้งเขาให้โดดเดี่ยว โดยให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกจนกระทั่งเสียชีวิต เป็นการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง เพราะเมื่อคนในครอบครัวป่วยหนัก แน่นอนว่าคนอื่นๆ จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไปด้วย
การดูแลแบบประคับประคองจึงไม่ใช่การดูแลผู้ป่วยเท่านั้น แต่หมายถึงดูแลทุกคนที่อยู่รอบข้างผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณเช่นกัน ซึ่งต้องดูแลจิตใจของคนในครอบครัวหลังจากที่ผู้ป่วยจากไปด้วย เพื่อให้พวกเขาไม่มีสิ่งที่ติดค้างจนเกิดเป็นปมในใจในเรื่องต่างๆ เช่น คิดว่าตัวเองยังดูแลพ่อแม่ไม่ดีพอ หรือว่าเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
ในด้านของแพทย์ ต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วยและญาติในการรับรู้ถึงข้อมูลของอาการ ความเจ็บป่วย ให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจในแนวทางและเป้าหมายในการดูแล รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องของค่านิยม ความเชื่อ ศาสนา ที่แตกต่างของพวกเขา ที่สำคัญคือให้การดูแลโดยไม่ยื้อชีวิตให้เกิดความทรมาน แต่เน้นไปที่การบรรเทาความเจ็บปวด เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ให้เขาใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีความสุข และเสียชีวิตตามระยะเวลาของโรคที่ดำเนินไป
คุณรู้สึกอย่างไรกับหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบความเป็นความตายของคนไข้ แน่นอนว่าเราไม่สามารถช่วยให้ทุกคนรอดได้ทั้งหมด คุณเคยรู้สึกล้มเหลวบ้างไหม
หลายๆ ครั้งที่ทางการแพทย์เรามองว่าความตายคือความล้มเหลว เพราะว่าในทุกการรักษา เรามองผลสำเร็จคือการรอดชีวิต แต่สุดท้ายแล้วต้องเข้าใจเหมือนกันว่าเราไม่ได้ชนะทุกครั้งไป ในทางการแพทย์เราเริ่มพูดกันแล้วว่าการรักษาไม่ได้ทำให้หายแน่นอนทุกครั้ง แต่คือการดูแลให้คนไข้สุขกายสบายใจ นั่นคือสิ่งที่แพทย์ทำได้อยู่ตลอด ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องพร้อม ไม่ว่าจะทำให้เขาหายป่วย หรือทำให้เขาอยู่สบาย และเมื่อถึงเวลาต้องตาย ก็ทำให้เขาตายดี บางครั้งผมก็รู้สึกหดหู่เหมือนกัน แต่ต้องมองย้อนกลับไปว่าเราทำดีที่สุดแล้ว พยายามทำสิ่งที่เหลืออยู่ต่อไปให้ดีที่สุด
“คนเรามีสิทธิ์ในการตัดสินชีวิตตัวเองได้ ชีวิตเรามีเพียงเราเท่านั้นที่กำหนดได้ แต่ไม่ต้องถึงกับไปฆ่าตัวตายหรือไปทำการุณยฆาต เราวางแผนชีวิตกันสิว่าต้องการอะไร บอกลูกหลานไว้ก่อน นี่เป็นเรื่องที่เราทำได้”
และจะเห็นเลยใช่ไหมว่าระบบต่างๆ ทั้งสังคมเราจะต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ คนไข้ที่ได้รับการดูแลไม่ดี เขาทุกข์ทรมานทางกาย หรือมีความรู้สึกหดหู่ โดดเดี่ยว อ้างว้าง ถ้าระบบการดูแลแบบประคับประคองดีพอ การการุณยฆาตก็ไม่เกิดขึ้น
ผมจะสอนนิสิตแพทย์เสมอว่า ถ้าวันหนึ่งมีใครก็ตามมาขอให้เราช่วยจบชีวิตของเขา ในฐานะที่เป็นหมอ สิ่งที่ควรทำที่สุดคือหาว่าเขาต้องการอะไร เขาได้รับการดูแลที่ไม่ดีอย่างไร ต้องแก้ตรงนั้นก่อน แล้วคนไข้ก็จะสบายขึ้น
วิธีที่เราจะพูดเพื่อให้กำลังใจผู้ที่เขากำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ต้องพูดกับเขาแบบไหน
คนไข้ที่อยู่ในระยะสุดท้าย สิ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือ กลัวจะถูกทอดทิ้ง กลัวว่าเขาจะเป็นภาระ และกลัวว่าถึงตอนสุดท้ายแล้วจะทุกข์ทรมาน สิ่งที่เราต้องเน้นย้ำเสมอคือ เราจะไม่ทอดทิ้งเขาแน่ๆ เราจะช่วยให้เขาผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ และเดินไปด้วยกัน เราต้องทำในสิ่งที่เราพูดกับเขาให้ได้ พยายามช่วยถ้าเขามีอะไรค้างคาใจอยู่ บางครั้งคนไข้มีห่วงเยอะ การที่เขามีห่วงก็จะทำให้จากไปอย่างไม่สงบ ซึ่งถ้าแก้ไขได้ว่าเขามีห่วงเรื่องอะไร ก็พยายามสะสางให้ คนไข้ส่วนหนึ่งก็จะรู้สึกสบายใจขึ้น การที่เขาได้อยู่ในที่ที่อยากอยู่ก็ด้วย เช่น ถ้าอยากกลับบ้าน ผมจะช่วยโดยให้คนที่เขารักอยู่ใกล้กับเขา อะลุ่มอล่วยในเรื่องของการเยี่ยม ให้มีคนมาเยี่ยมได้อย่างที่เขาต้องการ ซึ่งจะช่วยให้เขาสบายใจขึ้น เพราะการสื่อสารนั้นมีความสำคัญที่สุดในช่วงสุดท้าย
เรื่องแบบนี้ เราคุยกันตอนนี้ก็เหมือนเข้าใจได้ดี แต่พอถึงเวลาของเราจริงๆ คงกลัวมากๆ
ใช่ คุณต้องเข้าใจสถานการณ์ตรงนั้น ให้ความดูแลกับผู้ป่วยจนเขามั่นใจ สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลแบบประคับประคอง ไม่ใช่การหยุดรักษาคนไข้ ผมเน้นเลยว่าการรักษาทางการแพทย์ต้องทำให้เต็มที่จนกระทั่งเขาเสียชีวิต ตรงนี้ต้องเน้นย้ำนะครับ เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า การดูแลแบบประคับประคองคือการทิ้งคนไข้ หยุดให้การรักษา แท้จริงแล้วเราแค่เปลี่ยนเป้าหมายการรักษา เพราะโรคแต่ละโรคมีเป้าหมายในแต่ละระยะไม่เหมือนกัน คนไข้กลัวก็ต้องดูแลให้เขาไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน ให้เขาไม่เจ็บปวด ให้เขามีจิตวิญญาณที่ดี ถ้าเขามีอาการซึมเศร้าก็ต้องช่วยตรงนั้น
แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ พอคนไข้เลือกที่จะไม่ยื้อ เขากลับได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ ทำให้เขาเจ็บปวดทรมานจากโรคของเขา สุดท้ายเขาก็ต้องเปลี่ยนใจว่าขอไปเข้าห้องไอซียูดีกว่า นั่นเพราะเราทำให้เขาเหนื่อยเกินไป ดังนั้น การดูแลแบบประคับประคองจึงไม่ใช่การหยุดรักษา ดีไม่ดีอาจจะต้องเพิ่มการรักษาขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ต้องเน้นเรื่องการควบคุมอาการ ความสุขกายสบายใจ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้คนไข้ผ่านเรื่องนี้ไปได้
“หลักของการดูแลแบบประคับประคองไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะยื้อคนไข้ได้นานแค่ไหน แต่อยู่ในแง่ของคุณภาพของชีวิตว่าเราจะดูแลเขาอย่างไรให้ดีที่สุด”
ซึ่งหลายครั้งเราจะพบว่าผู้ป่วยและญาติมีโอกาสได้เจอแพทย์น้อยมาก เพราะบุคลากรทางการแพทย์ตอนนี้มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลรัฐบาล โอกาสที่พวกเขาจะได้คุยกับแพทย์ในเชิงลึกนั้นน้อยมาก เมื่อคนดูแลไม่สามารถสื่อสารกับหมอได้อย่างเข้าใจ ก็เกิดเป็นข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง พอถึงเวลาที่ต้องคุยเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องความตาย คนไข้และคนดูแลก็รู้สึกไม่สบายใจที่จะคุยเรื่องนี้ มีความกังวล และจะรู้สึกไม่ดีตามๆ กันไป เรื่องนี้ผมว่าเป็นประเด็นสำคัญในแง่ของการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมรักษาพยาบาล
คลุกคลีกับคนไข้ช่วงสุดท้ายมาเยอะแบบนี้ แล้วคุณเชื่อในเรื่องของปาฏิหาริย์บ้างไหม
ผมไม่เชื่อในเรื่องปาฏิหาริย์ แต่ผมเชื่อว่าเราให้โอกาสกับทุกคน และคิดว่าเรามีข้อจำกัดทางการแพทย์ ปาฏิหาริย์มีข้อดีตรงที่ทำให้คนไข้มีกำลังใจต่อไป แต่การให้ความหวังซึ่งไม่เป็นจริงก็ทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งต้องทุกข์ทรมานมาก เพื่อหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ผมเลือกจะให้ข้อมูลคนไข้อย่างแท้จริง ถึงแม้ตัวเลขที่บอกไปจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่หลายครั้งจะพบว่าคนไข้เป็นคนพูดเองว่า แม้จะมีโอกาสแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ เขาก็อยากจะใช้มันอย่างเต็มที่ ตรงนี้คือเราต้องให้โอกาสคนไข้ และคุยกับเขาว่าเขายอมรับต่ออาการป่วยของตัวเองได้แค่ไหน
เคยมีกรณีที่คนไข้เองยืนยันที่จะยื้อตัวเองต่อไปไหม
มีบางครั้งที่เขาเห็นไม่ตรงกัน เขาจะมองเป้าหมายของการรักษาแบบนี้ต่างออกไป ซึ่งเป้าหมายนี้ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าจะรักษาเพื่ออะไร คนไข้อาจต้องการการรักษาเพื่อให้ชีวิตของตัวเองยืดออกไป พอเป้าหมายที่คุยไม่ตรง การรักษาก็เป็นไปอย่างผิดที่ผิดทาง คนไข้บางคนเขาหวังว่าเมื่อเข้ารับการรักษาจะต้องมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ซึ่งถ้ามองในมุมของการแพทย์ โรคที่เขาเป็นอยู่อาจเป็นไปได้ยากมากๆ แต่ผมก็ยอมรับว่าการรักษาบางครั้งก็อาจจะได้ผลขึ้นมา ผมก็จะยอมให้คนไข้พยายามต่อสู้ เพื่อหวังว่าจะเกิดผลดีขึ้น แต่ก็ต้องคุยกันก่อนถึงความเป็นไปได้
แต่ทั้งนี้ก็ต้องย้ำว่า การดูแลแบบประคับประคองต้องเริ่มต้นจากการพยายามคุย และให้ข้อมูล สุดท้ายจึงยึดในสิ่งที่คนไข้และญาติต้องการเป็นหลัก และดำเนินการไปตามนั้น
แล้วกรณีที่มีความยากลำบากในการสื่อสารกับญาติและคนดูแลล่ะ
สิ่งที่สำคัญคืออย่าไปกังวลตรงที่ว่าจะรักษาอย่างไร หรือจะหยุดการรักษาอย่างไร แต่ให้เราเริ่มต้นกันตรงที่แนวคิดก่อน ทุกคนน่าจะทำการตกลงแนวคิดให้เข้าใจตรงกันว่าชีวิตที่ผู้ป่วยปรารถนาคืออะไร เขาต้องการมีชีวิตอย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าเราเริ่มคุยที่แง่แนวคิด คนส่วนใหญ่จะมีแนวคิดที่ตรงกัน เช่น ถ้าอยู่แบบเป็นผักไม่เอานะ ถ้าต้องมาเจาะคอหรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลาแบบนี้ก็ไม่เอานะ ส่วนใหญ่เราคิดตรงกันแล้ว ซึ่งถ้าก่อนที่เขาจะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรง ได้เคยคุยเรื่องแผนการชีวิต การดูแลแบบประคับประคองก็จะง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเจอกับความเจ็บป่วยที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา หรือสื่อสารไม่ได้เพราะต้องเจาะคอ เมื่อถึงจุดนั้นเราอาจจะบอกว่าอย่าไปยื้อชีวิตเขาไว้ และดูแลเขาให้สบายที่สุดดีกว่า
ถ้าหลักการดูแลแบบประคับประคองทั้งสังคมเรารับรู้และเข้าใจตรงกันจะเห็นอะไรเกิดขึ้นแบบเป็นรูปธรรมบ้าง
ผมมองว่า ถ้าไม่สำเร็จ จะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงกับสังคมในอนาคตมากกว่า เพราะบ้านเรากำลังเคลื่อนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เรากำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุนั้นแน่นอนว่าต้องมีการเสื่อมโทรมของร่างกาย เกิดการเจ็บป่วย และต้องการความดูแล การดูแลแบบประคับประคองจะทำให้เราทุกคนมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลที่เหมาะสม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคนไทยก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปจนวาระสุดท้าย สามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีจนถึงวาระสุดท้าย
ซึ่งถ้าเราดูแลเรื่องการดูแลแบบประคับประคองไม่ดี มีการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เช่น ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งมีงบอยู่ก้อนหนึ่งที่นำมาเฉลี่ยให้สำหรับการดูแลคนทั้งประเทศ แล้วเราดูแลผู้ป่วยอย่างไม่เหมาะสม เป็นการยื้อชีวิตของเขาไว้ และก็ใช้ทรัพยากรส่วนนี้ไป แทนที่จะเอาไปใช้กับคนที่ได้ประโยชน์ต่อการรักษา ก็กลายเป็นมุมมองสองด้าน ผมเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ทั้งสังคม ระบบสุขภาพหรือระบบสาธารณสุขโดยรวม สำหรับคนที่ยังไม่ถึงทางเลือกสุดท้ายก็จะดีขึ้น ความแออัดในโรงพยาบาลจะน้อยลง เราใช้ห้องไอซียูได้คุ้มค่ามากขึ้น ที่ผมบอกว่าไม่คุ้มค่าเพราะเราเอาไปใช้กับคนไข้ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการรักษา แล้วเรายิ่งกลับทำให้เขาทุกข์ทรมานมากขึ้น
หลักการดูแลแบบประคับประคองที่คุณกล่าวมา เหมือนกับว่าชุมชนในต่างจังหวัดที่ยังมีความผูกพันของครอบครัวและชุมชน กลับจะสามารถทำได้ง่ายกว่า ต่างจากในกรุงเทพฯ ที่ทุกวันนี้บอกตรงๆ ว่าคนที่อยู่ข้างบ้านเรานั้นยังแทบไม่เคยคุยกัน
ใช่ เป็นเรื่องที่ท้าทายมากจริงๆ เพราะระบบในเมืองหลวงซึ่งแต่ละคนจะอยู่เป็นสังคมเดี่ยว และบางครั้งก็มีการพาคุณพ่อคุณแม่มาอยู่ด้วยในกรุงเทพฯ โดยที่ตัวเองไปทำงานทั้งวัน สุดท้ายก็ไม่มีใครดูแล ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายเรามาก ยิ่งเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตรงนี้ที่เราต้องวางแผนให้ดี แต่ผมคิดว่าต่อไปเราจะมีกลไกที่พยายามจะสร้างระบบเพื่อมารองรับตรงนี้ ในชุมชนเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ต่างจังหวัด ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต
สิ่งที่คนในเมืองใหญ่อย่างเรากลัวที่สุดก็คือการตายอย่างโดดเดี่ยว ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Kodokushi คุณว่าหลักการของการดูแลแบบประคับประคองจะช่วยเราได้ไหม
เรื่องนี้ต้องมีระบบเชิงโครงสร้างของทั้งสังคม ถ้าไม่มีระบบการดูแลแบบประคับประคองคนไข้ก็ต้องเข้ามาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่โรงพยาบาล ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลถูกออกแบบมาสำหรับดูแลคนไข้เฉียบพลัน ตอนนี้เรากำลังขาดช่วงกลางของระบบ ผู้ป่วย คนเฒ่าคนชราอาจจะอยู่บ้านไม่ได้ แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการการดูแลแบบโรงพยาบาล ซึ่งจะทำอย่างไรในการดูแลตรงช่องว่างที่มีอยู่ เช่น มีระบบชุมชนที่ช่วยดูแลกันและกัน คนในชุมชนอาจมีการไปเยี่ยมที่บ้านหรือเปล่า คนนี้หายไปเดือนหนึ่งโดยไม่มีใครรู้เลย ถ้าเรามีการดูแลแบบประคับประคองนชุมชน มีกิจกรรมร่วมกัน ก็จะช่วยให้คนไข้อยู่ในชุมชนได้นานขึ้น ไม่โดดเดี่ยว นี่คือเรื่องเชิงระบบที่ต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนะ เพื่อช่วยให้ดูแลกันได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โรงพยาบาลไปถึงบ้าน และช่วยให้เขาอยู่ในชุมชนได้นานที่สุด แล้วภาวะการตายอย่างโดดเดี่ยวจะหายไป
ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวพยายามวิ่งหาความสำเร็จ เขาไม่เคยมองเรื่องความตายเลย และคิดเสมอว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก
การจะทำให้คนกลุ่มนี้มาเข้าใจเรื่องความตายก็ไม่ง่ายนัก ต้องใช้ประสบการณ์ตรง เช่น มีญาติพี่น้องป่วย แต่ผมเชื่อว่าเราพยายามพูดเรื่องนี้ในสังคมให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนอย่างที่ไต้หวันเขาพูดเรื่องความตายในชั้นเรียนมัธยมเลย ว่าการดูแลแบบประคับประคองคืออะไร การรักษาที่เหมาะสมคืออะไร เขาทำให้เป็นเรื่องปกติของสังคม ซึ่งเราควรทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติ
เช่น พ่อแม่พูดกับลูกเรื่องความตายได้เลย ว่าถ้าพ่อแม่เป็นอะไรไปจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าการคุยเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติในครอบครัว และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนได้ ไม่แปลกที่จะคุยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่อยู่สำหรับบ้านเรา เพราะเพิ่งมีสอนในชั้นเรียนของแพทย์เมื่อ 10-20 ปีหลังนี้เอง
แต่ในครอบครัว จะมีใครเคยพูดเรื่องความตายให้เด็กฟังไหม ผมว่าน้อย น้อยมาก ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ เขาก็จะไม่รู้ว่าความตายเป็นเรื่องปกติในชีวิต เราควรที่จะคุย ควรอยู่ในหลักสูตรการเรียนด้วย ถ้าวัดเรื่องความตายที่ได้คุณภาพที่ดีที่สุด ไต้หวันเป็นประเทศที่ดีที่สุดในเอเชียเรื่องคุณภาพการตาย เพราะเขาสอนเด็กเรื่องความตายตั้งแต่ประถมเลย เขาพูดเรื่องความตายเลยว่าเป็นอย่างไร
ความหมายในทางการแพทย์ในคำว่า ‘คุณค่าของชีวิต’ นั้นคืออะไร
ถ้าเป็นในมุมมองทางการแพทย์จริงๆ เลย ไม่ต้องพูดถึงความเชื่อทางศาสนา
“คุณค่าของชีวิตคือชีวิตที่อย่างน้อยต้องอยู่ได้โดยไม่มีความทุกข์ทรมานมากเกินไป สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของเราว่าต้องการอะไร และเรามีความรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์”
ซึ่งนี่เป็นสามเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ชีวิตที่ดีต้องมองที่คุณภาพมากกว่าเวลา
ผมยึดหลักเสมอว่าหน้าที่ของแพทย์คือการยืดชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายไปให้นานที่สุด ถ้าเราทำแค่ยื้อความตาย แค่นับรอวันที่เขาจะไปอย่างเดียว โดยที่เขาต้องไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคุณค่า หรือว่าชีวิตเขาไม่มีคุณภาพ เราต้องมาคุยกันแล้วว่าอะไรคือการรักษาที่เหมาะสมในเวลานั้น