“คุณค่าที่ซ่อนอยู่ในพาราลิมปิกเกมส์”
เหตุที่ไทยต้องย้อนกลับมามอง
และแล้ว “กีฬาโอลิมปิกคนพิการ-ปักกิ่ง 2008” ก็ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา
นับว่า “จีน” เจ้าภาพการจัดงาน สามารถเตรียมความพร้อมทั้งการจัดสถานที่แข่งแข่ง สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ระบบการขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อคนพิการ รวมถึงความพร้อมของทัพนักกีฬาได้เป็นอย่างดี
พ.อ.โอสถ ภาวิไล นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานของเจ้าภาพมีความพร้อมเป็นอย่างดีทั้งสนามแข่งขั้น หมู่บ้านนักกีฬา ได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนพิการ โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยที่คนทั่วไปไม่มีสิทธิได้เข้าถึงตัวนักกีฬา ระบบการขนส่ง เจ้าหน้าที่ จนกระทั่งการเตรียมทีมนักกีฬาเพื่อร่วมการแข่งขันในครั้งนี้มา 3 ปีแล้ว ขณะที่เรายังเตรียมนักกีฬาไม่ถึง 3 เดือน ดังนั้นผลการแข่งขันที่ออกมาจึงไม่ต้องคิดมาก เพราะการเตรียมตัวของเจ้าภาพได้วางไว้เป็นอย่างดี ทำให้ในอีก 4 ปี ที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2012 ที่มีอังกฤษเป็นเจ้าภาพคงต้องคิดหนัก และไทยเราก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี ไม่เช่นนั้นการได้เหรียญก็จะยากมาก
“ปกติแล้วการแข่งขันพาราลิมปิกในทุกๆ ที่ หลังกีฬาโอลิมปิกสิ้นสุดการแข่งขันลง ประเทศเจ้าภาพจะต้องใช้เวลาปรับสภาพความพร้อมของสถานที่จัดการแข่งขันพาราลิมปิก เป็นเวลากว่า 1 เดือน แต่จีนใช้เวลาเพียง 4 วัน ในการปรับสภาพสถานที่แข่งขัน โดยเปิดให้นักกีฬาสามารถเข้าพักได้เลย”
สำหรับผลการแข่งขันที่จำนวนเหรียญทองของไทยลดลงกว่าการแข่งขันที่ผ่านมานายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย มองว่า “ผลการแข่งขันในครั้งนี้นักกีฬาไทยไม่ได้มีพัฒนาการที่ด้อยลง แต่ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากนักกีฬาที่ได้เหรียญเงิน ได้ทำลายสถิติในอดีต แต่เนื่องจากนักกีฬาของจีนเขาสามารถทำลายสถิติได้มากกว่า จึงได้รับเหรียญทองไป นอกจากนี้แม้ว่าการจัดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจะถูกตัดงบประมาณคนพิการลง แต่ก็ไม่กระทบต่อการเข้าร่วมการแข่งขันมากนัก เพราะจีน เจ้าภาพการจัดงานเป็นผู้สนับสนุนตั๋วเครื่องบินให้กับนักกีฬา รวมถึงการสนับสนุนค่าลงทะเบียน และค่ากินอยู่ ซึ่งหากครั้งหน้าเจ้าภาพสนับสนุนเช่นเดียวกันนี้ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณการจัดส่งนักกีฬา แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็จะมีปัญหา”
และอานิสงค์ของความทุ่มเทของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ย่อส่งผลถึง “คนพิการ” ในจีนโดยตรง โดยเฉพาะการยอมรับและการมีที่ยืนในสังคม
นางหลิว ปิงชิน หญิงพิการทางขา วัย 57 ปี ที่ใช้เวลาเดินทางกว่า 5 ชั่วโมง เพื่อรับชมการแข่งขันพาราลิมปิก ได้สะท้อนถึงมุมมองของคนพิการในประเทศจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า ตั้งใจมารับชมการแข่งขันพาราลิมปิกโดยเฉพาะ เพราะเป็นโอกาสดีที่จัดขึ้นในปักกิ่ง และจากที่ได้ดูการแข่งขันของนักกีฬาคนพิการทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในเหรียญที่นักกีฬาได้รับ
“ทัศนคติของความพิการในมุมมองของคนจีนส่วนใหญ่ คนพิการกับคนธรรมดาก็เหมือนกัน แม้ว่าร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่จิตใจเหมือนกัน และไม่รู้สึกน้อยใจหรือรู้สึกว่าด้อยกว่าคนอื่นๆ”
แม้ว่า การแข่งขันจะสิ้นสุดลง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเวทีกีฬาคนพิการนั่นคือ การให้คนพิการเข้าไปอยู่ร่วมกันในเวทีร่วมของคนในสังคม โดยเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของพวกเขา และถือเป็นเครื่องมือที่เคารพการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย
พ.ญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัสวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มองว่า
“จากเหตุการณ์นักกีฬาคนพิการลงแข่งว่ายน้ำร่วมกับนักกีฬาปกติในการแข่งขัน ทั้งที่คนเคยคิดว่า ขาขาดต้องต่างจากคนปกติ แต่มันพิสูจน์ได้แล้วว่า สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะศักยภาพของมนุษย์สามารถถูกดึงออกมาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใดก็ตาม”
ที่ผ่านมาแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ได้เป็นฝ่ายให้ความรู้กับสังคมเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับคนพิการ ที่ว่า ก่อนที่ไทยจะมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น เฟสปิกเกม เราอยากรู้ว่าประเทศไทยรับรู้ความพิการ หรือรู้จักความพิการในแง่นี้เข้ามาแล้ว เราเห็นพิการต่างไปจากเดิมหรือไม่ แต่ผ่านไปปีแล้วปีแล้วปีเล่าเราก็ยังเห็นภาพบางอย่าง เช่น นักกีฬาคนพิการที่ได้เหรียญแต่ทำไมเขาถึงไม่รู้สึกชื่นชมกัน ทำไมไม่มีการถ่ายทอด สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่โยนมาในสังคม
“ปรากฎการณ์แข่งขันพาราลิมปิกเกมในยุคนี้ถือว่าเงียบกว่าที่ผ่านมา อาจะเป็นเพราะกระแสด้านอื่นของสังคมไทยในช่วงนี้ก็ได้ ทำให้มองว่าเรื่องนี้ถูกผลักออกนอกความสนใจของคนมากยิ่งขึ้น ขณะที่เรามีการใช้เงินฟุ่มเฟือยในโครงการใหญ่ต่างๆ แต่หากดูตัวเลขการใช้กลับหดตัวลง นั่นเป็นเพราะเขาคิดว่าเรื่องนี้ยังอยู่นอกความสนใจ หากเรื่องจะฟูขึ้น ก็ต่อเมื่อกลไกที่คุมอำนาจ ต้องการหาเสียง คะแนนที่จะลงในช่วงดีๆ ก็จะเห็นงบโปรโมทให้กับคนปกติและคนพิการ แต่ช่วงนี้จะเงียบไปเลย”
ดังนั้นถ้าเมื่อใดที่สภาวะของคนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ต้องต่อสู้ป้องกันตัว เรื่องคนพิการไม่ต้องพูดถึง มันก็สะท้อนว่า สังคมไทยมองว่าคนพิการยังเป็นคนชายขอบอยู่ เป็นกลุ่มคนที่จะได้รับอะไรก็ต่อเมื่อมีการเรียกร้องในสิ่งที่สังคมปกติมีแล้ว
จากเวทีพาราลิมปิก สู่เวทีกีฬาแห่งชาติที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องตระหนัก คือ ทบทวนทัศนะเกี่ยวกับการจัดการกีฬาว่าอะไรคือแก่นของมัน อะไรคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การให้คนมีรายได้เพียงชั่วคราว แต่เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ของสังคมมนุษยชาติ ถ้าเขาคิดอย่างนั้นแล้ว ขยับเพียงไม่มากในเรื่องของการจัดการคุณจะได้ทั้ง 2 อย่าง คือ อย่างที่คุณอยากจะได้อยู่แล้วก็ได้ด้วย แต่มันจะได้อย่างอื่นอีก เพียงแค่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย ช่วยกันคิด จับแก่นให้ได้ การจัดการมันก็เปลี่ยนแล้ว
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 26-09-51