คืบหน้าธรรมนูญสุขภาพสงฆ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คืบหน้าธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ คณะทำงานเข้าพบ 2กก.มส.ถวายรายงาน
พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นำผู้แทนคณะทำงานโครงการธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เข้าถวายรายงานความก้าวหน้าโครงการ แด่พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ที่วัดยานนาวา กรุงเทพฯ และเข้าพบพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม และอธิการบดีมหาจุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
พระราชวรมุนีเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีมติมหาเถรสมาคมที่ 191/2560 เรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยให้ดำเนินการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยมอบหมายให้พระพรหมวชิรญาณและพระพรหมบัณฑิตเป็นที่ปรึกษา การนี้เพื่อสนองมติดังกล่าวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระพรหมบัณฑิต ได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 769/2560 แต่งตั้งคณะทำงานโครงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีพระราชวรมุนีเป็นประธาน มีคณาจารย์มหาจุฬาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) การดำเนินงานได้มีการประชุมคณะทำงานวิชาการยกร่างธรรมนูญฯ จัดทำแผนกิจกรรมดำเนินงาน และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ 4 ภาคสงฆ์มหานิกาย และ 1 ภาคคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยใช้หลักการใช้ทางธรรมนำทางโลก ที่พระพรหมบัณฑิตเมตตาให้หลักการไว้ ซึ่งคณะทำงานได้ยึดเป็นการสำคัญในการดำเนินงาน โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ (1)พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามพระธรรมวินัย (2)ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย (3)บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม รวมถึงการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ สู่การปฏิบัติ
"การจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีทั้งหมด 5 หมวด สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญข้างต้น รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐและองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ (1) สิทธิประโยชน์พื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพ (2)ระบบการตรวจสุขภาพ (3) พระอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด (พระอสว.) หรือพระคิลานุปัฏฐาก และ (4) กองทุนสุขภาพพระสงฆ์ระดับชาติ ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ได้ยึดโยงกับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ โดยคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ทั่วประเทศ สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ และเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา โดยการสนับสนุนขององค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง" พระราชวรมุนี กล่าว