คืนชีวิตลำน้ำยาว ณ ‘น่าน’
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากสำนักข่าวอิสรา
เยาวชนกลุ่มยุวอนุรักษ์ ในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ชีวิตลำน้ำยาว
สายน้ำแห่งชีวิต "ลำน้ำยาว" ที่ทอดยาวตลอดทั้งสายไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน คือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ชุมชนบ้านน้ำหลุ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ต่างใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลำน้ำยาวที่เคยใสสะอาดเริ่มเปลี่ยนไป รวมถึงวิถีการหาปลา หากุ้ง ที่เอื้อต่อการคงอยู่ของทรัพยากรทางน้ำแบบชาวขมุก็เริ่มเลือนหายไป เพราะการขาดจิตสำนึกและความรู้ของคนในชุมชน
"คนเข้ามาใช้ไฟฟ้าชอร์ต ทิ้งขยะลงลำน้ำ รวมถึงขวดสารเคมี ยิ่งช่วงหลังๆ ชาวบ้านจับสัตว์น้ำโดยขาดความรู้ ปลาตัวเล็กตัวน้อยถูกจับไปหมด ไม่มีการปล่อยคืนให้มันขยายพันธุ์ต่อ" กิ๊ก-สาวิณี เสารางทอย บอกเล่ารายละเอียด
จนกระทั่งมีเยาวชนกลุ่มหนึ่งเห็นสถานการณ์ปัญหา ผืนน้ำที่พวกเขาเคยกระโดดเล่นตั้งแต่วัยเด็กเริ่มเปลี่ยนไป ปลา กุ้ง แทบไม่มีแหวกว่ายให้เห็นสักตัว จึงรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ เยาวชนกลุ่มยุวอนุรักษ์ ดึงพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนเข้าร่วมกลุ่ม พร้อมทั้งออกกฎการงดจับสัตว์น้ำ โดยขอความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คิดริเริ่มที่จะทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยใช้ "พิธีการบวชน้ำ" เป็นกุศโลบาย ตั้งเขตอภัยทาน 1 ปีผ่านไป ปลาและกุ้งก็ยังไม่มีให้เห็นเช่นเดิม
"มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ อยากทำเป็นโครงการเพื่อให้ลำน้ำยาวกลับมาใสสะอาด มีปลา มีกุ้งแบบดังเดิม" กิ๊ก กล่าวต่อด้วยความมุ่งมั่น
กิ๊กเล่าต่อว่า เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยมีเพื่อนร่วมทีม จ๋อย- วรมน เสารางทอย หนึ่ง-ณัฐวดี ทองสุข บีมสุณิตา แก้วแดง เณรน๊อต-สามเณร จักรินทร์ อินปัญญา และด้วยหวังว่าจะช่วยฟื้นคืนชีวิตลำน้ำยาวขึ้นมาได้อีกครั้ง
หนึ่ง-ณัฐวดี ทองสุข เล่าว่า ความคิดแรกที่อยากทำโครงการนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลำน้ำยาวมีปลา ตอนแรกตั้งใจที่จะนำงบประมาณมาซื้อพันธุ์ปลามาปล่อย ซื้อหัวอาหาร แต่ก็คิดได้ว่าการซื้อปลามาปล่อยคงไม่สามารถคืนชีวิตให้ลำน้ำยาวได้ หากพวกเขายังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะคิดว่าด้วยประสบการณ์และความรู้ของทีมงานยังมีไม่เพียงพอ จึงต้องเติมความรู้ด้วยการเข้าไปเรียนรู้วิธีการอนุรักษ์พันธุ์ปลาจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และคนในชุมชนก่อน
สามเณรจักรินทร์ อินปัญญา กล่าวว่า การทำงานของทีมเริ่มจากการเปิดวงแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน รวมถึงการออกกฎระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยชวนน้องๆ ชั้นประถมศึกษาเข้าร่วมด้วย เพื่อปลุกจิตสำนึกให้น้องรู้จักรักลำน้ำยาวตั้งแต่เด็กๆ
หลังจากที่เยาวชนกลุ่มนี้ได้ตั้งวง ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนต่างวัย นั่นก็คือ ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน คนในชุมชน ทำให้พวกเขารู้ว่าบุคคลเหล่านี้ยังมีองค์ความรู้อีกมากที่จะถ่ายทอดให้พวกเขาได้เรียนรู้ พร้อมกับออกแบบการทำงาน โดยเริ่มจากการนำข้อมูลจากวงแลกเปลี่ยนมาแยกประเด็น เพื่อออกแบบการใช้ปฏิทินอาหารจากน้ำในแต่ละช่วงปี และการเก็บข้อมูลพันธุ์สัตว์น้ำด้วยการใช้เครื่องมือแบบบันทึกข้อมูล รวมถึงอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเพื่อนำมาศึกษา และสุดท้ายจึงมาสรุปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Timeline
บีม-สุณิตา แก้วแดง เสริมต่อว่า ความรู้ใหม่ที่ทีมงานได้จากการรับฟังชาวบ้าน มาพร้อมกับการตั้งข้อสังเกตจากกระบวนการทางธรรมชาติ คือที่ไหนที่มีต้นไม้มักจะมีปลาอาศัยอยู่ พวกเราจึงกลับมาทำซุ้มให้ปลา โดยนำก้อนหิน ต้นไม้ที่ยืนต้นตายมาวางสุมกัน และตัดกิ่งไม้บัง สร้างเป็นจุดๆ จัดน้องๆ หมุนเวียนมาดูแลให้อาหาร
โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาของกลุ่มเยาวชนบ้านน้ำหลุ นอกจากจะได้คืนชีวิตให้กับลำน้ำยาวแล้ว ทีมงานยังร่วมกันปลุกจิตสำนึกให้น้องๆ ช่วยกันดูแลสายน้ำแห่งชีวิตของพวกเขา โดยระหว่างลงพื้นที่สำรวจ การเพิ่มจำนวนของพันธุ์สัตว์น้ำ ได้ร่วมกันเก็บขยะขวดพลาสติกตลอดลำน้ำยาวอีกด้วย
กิ๊กในฐานะพี่ใหญ่ที่เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนทีมงานและน้องๆ ในชุมชนลุกขึ้นมาดูแลและปกป้องลำน้ำยาว บอกว่า รู้สึกภาคภูมิใจมากที่พวกเราและน้องๆ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวบ้านได้ และหวังว่าชาวบ้านจะลุกขึ้นมาดูแลสายน้ำแห่งนี้ร่วมกัน อย่างไรก็ตามเพื่อให้การทำโครงการเกิดผลสำเร็จ ทีมงานมีแผนจะขยายพื้นที่การทำงานจากเดิม 1 กิโลเมตร เป็น 5-6 กิโลเมตร
"สมัยก่อนมีป่าจิก ป่าจากที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งสัตว์ป่าสัตว์น้ำออกมาให้เห็นตามลำน้ำยาว แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะไม่ใช่แค่ แห สวิง อย่างเดียวที่เอาเข้ามาจับปลากัน แต่เขาใช้ไฟชอร์ตกันเลยทีเดียว เห็นลูกๆ หลานๆ เข้ามาสอบถามพูดคุยด้วย ก็รู้สึกดีใจที่เด็กเห็นความสำคัญของสายน้ำ อาสาเข้ามาทำงานอนุรักษ์ลำน้ำยาว เพื่อช่วยเหลือชุมชน ดีใจมากๆ" ดู่ เสารางทอย ปราชญ์ชาวบ้าน บอกเล่าความรู้สึก
พลังเล็กๆ ของกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้อาจเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศไม่ได้ แต่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเล็กๆ ที่เป็นบ้านเกิดของตนเองได้ ด้วยความ "กล้า" ที่จะอาสาลุกขึ้นมา ปกป้องลำน้ำยาว สายน้ำแห่งชีวิตที่เลี้ยงดูผู้คนในบ้านน้ำหลุ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ให้ฟื้นคืนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง