คิดเอง ทำเอง มีความสุขเอง
“เรามิอาจหวังถึงความเป็นชุมชนสุขภาวะแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยๆในอนาคตอีก 10 ปี ดอนแก้วจะต้องมีประชาชนที่มีความสุข 60 เปอร์เซนต์” นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ผมเริ่มทำงานเป็นฝ่ายบริหารตำบลดอนแก้วมาตั้งแต่ปี 2542 สมัยยังไม่มีกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเป็นประธานสภาท้องถิ่นภายใต้สังกัดกรมการปกครอง เมื่อมีการรับสมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว จึงได้เข้าร่วม และได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
แนวทางการพัฒนาชุมชนดอนแก้วสู่ความเป็นชุมชนน่าอยู่นั้นเกิดขึ้นนานแล้ว ก่อนที่ สสส. จะเข้ามา โดยผมให้งบประมาณ ส่งคนไปศึกษาดูงานจากตำบลปากพูน แล้วก็นำความรู้กลับมาเทียบกับตำบลของตนเอง พบว่าดอนแก้วมีแหล่งเรียนรู้ที่สามารถให้ความรู้ได้ เพียงแต่ต้องมารวบรวมให้ดีเหมือนที่เขาทำ
ภายหลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้ามาให้การสนับสนุน โดยให้เราเป็นแม่ข่ายและเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานภาคเหนือตอนบน มาถึงขณะนี้เราก็เข้าร่วมตำบลสุขภาวะมา 3 ปี ซึ่งถ้าจะให้นิยามความหมายของตำบลสุขภาวะ ก็คือ สุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับทุกด้านในชุมชน แล้วสภาวะไหนที่ชุมชนต้องการ ก็มองเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ อย่างตอนที่ผมเป็นประธานสภาท้องถิ่น เมื่อเดือนกันยายนปี 2542 ก็มีการคุยกันแล้วว่า ฝ่ายบริหารจะไม่ให้อะไรกับชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านต้องการอะไร ต้องมีการแลกเปลี่ยน ผมเคยเป็นประธานกลุ่มหนุ่มสาวหมู่บ้านและตำบลมาก่อน ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการทำงาน และเห็นว่า ฝ่ายบริหารอย่าไปคิดแทนชาวบ้าน ต้องปล่อยให้เขาคิดแล้วเสนอมา
โดยเรามีหน้าที่คอยส่งเสริมและสนับสนุน ต้องยอมรับว่า สสส. เข้ามาช่วยเราหลายอย่าง เพราะก่อนหน้านี้ แม้ทางตำบลมีนโยบายการพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ แต่ยังไม่มีการวางระบบที่รัดกุม พอ สสส. เข้ามา การทำงานก็ดีขึ้น เป็นขั้นตอน โดยกระบวนการปฏิบัติ อบต.ดอนแก้ว ใช้ระบบให้ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะถ้าหากมองย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนก็มีการประชุม มีการทำประชาคมร่วมกัน เขาก็ยังคิดเองได้ ดังนั้น ถ้ามามัวแต่คิดให้เขาอยู่ ชุมชนจะอ่อนแอ ไม่มีการพัฒนาตนเอง ผมมองว่า เราควรใช้วัฒนธรรมแบบสังคมเครือญาติ เน้นการพูดคุยกัน เพราะเราไม่ใช่สังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่
ตั้งแต่วันที่ผมเข้ามา ผมพยายามมองให้ทุกเรื่องไม่ใช่อุปสรรค ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้ามัวแต่คิดถึงปัญหา เราจะไม่มีแรงในการทำงานต่อ ถ้าทำก็คือลงมือทำเลย ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องแก้ไขตรงจุดนั้นเลย
ปัจจุบันนี้ ผมยอมรับว่า แม้ดอนแก้วจะมาถึงจุดนี้ แต่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนก็ยังอยู่แค่ในระดับที่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่คนภายนอกมองอาจคะเนไว้สูงกว่านั้น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ดอนแก้วเป็นสังคมกึ่งเมือง คนบางกลุ่มอย่างเช่น คนที่มีการศึกษาสูงๆ มักจะมองข้าม ไม่เข้ากลุ่ม อาจจะเพราะเขายึดระบบศักดินาอยู่ก็ได้
ถ้านับจำนวนปี ผมนำดอนแก้วมาสิบกว่าปี ต้องบอกตรงๆ เลยว่า การทำงานต้องมีความต่อเนื่อง การวางคนถือเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องวางแผน อย่างตอนนี้ผมพยายามสร้างคนที่จะมาแทน พยายามสร้างไว้ให้มากที่สุด โดยเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามา ผมจะไม่ให้เขาเน้นเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ให้ไปเน้นเรื่องสุขภาพและการศึกษา ถ้าเด็กคิดถึงโครงการพื้นฐาน เขาก็จะไม่ได้รับการศึกษา ถึงแม้คนเราจะมีจุดอิ่มตัว แต่ก็ยังช่วยเหลือและสนับสนุนตลอดจนประคับประคองกันไปได้ เพราะอย่างไรก็คือบ้าน คือท้องถิ่นของเรา ตอนนี้พยายามสร้างคนรุ่นใหม่ วางแผนเรื่องคน ต้องมองระยะยาว ไม่ใช่มองแค่ช่วงสั้นๆ อย่างน้อยผมก็ยังมีเวลาอีกพอสมควร เพราะผมยังไม่คิดเรื่องการวางมือ
กับอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำไว้กับคนรุ่นใหม่คือ ต้องยอมให้ประชาชนคิดเอง ทำเอง ให้เขาทำแล้วมีความสุข มีความภาคภูมิใจ จริงอยู่ว่า เรามิอาจหวังถึงความเป็นชุมชนสุขภาวะแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยๆ ในอนาคตอีก 10 ปี ดอนแก้วจะต้องมีประชาชนที่มีความสุข 60 เปอร์เซนต์ เท่านี้ผมก็พอใจ
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะทิ้งไว้ คือตั้งแต่หลังปี 2549 มาถึงตอนนี้ มีการแซกแทรงจากรัฐเข้ามาราว 70 เปอร์เซนต์แล้ว รัฐไม่ยอมปล่อยให้เราคิดเองอย่างแท้จริง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการแทรกแซงด้านงบประมาณ แม้แต่การสั่งงานภาครัฐก็ยังคงทำอยู่ เช่น อยู่ดีๆ มาสั่งงานโดยที่ไม่สอดคล้องกับการบริหารงานชุมชน ในฐานะที่เราเป็นผู้รับคำสั่ง มันก็จำเป็นต้องทำ เราต้องส่งเสริมสนับสนุน แต่บางอย่างต้องคิดนอกกรอบ ให้ชุมชนรับได้ ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการปฏิบัติที่ตรงข้ามกับคำสั่ง
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ