คิกออฟเด็กไทยสุขภาพดี เติบโตสมวัย ด้วยหลัก 10 อ.

คิกออฟเด็กไทยสุขภาพดี เติบโตสมวัย ด้วยหลัก 10 อ. thaihealth

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) เป็นประธานเปิดตัว (Kick off) โครงการสุขภาพดี ด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ วิถีชีวิตใหม่ยุคดิจิทัล ปี 2565 ณ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ กรรมการที่ปรึกษาแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน

พล.อ.อ.สุบิน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาและการออกกำลังกาย ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี มีพระราชจริยวัตรเรื่องออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอมา กอปรกับพระองค์ทรงริเริ่มดำเนินโครงการ “จิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป สมัครเป็นจิตอาสา เริ่มต้นจากการช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งแรงกายและแรงใจ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจดี “การเป็นจิตอาสา” หรือการมีจิตใจเอื้ออารี พร้อมจะช่วยเหลือ หรือการให้ความช่วยเหลือคนอื่น มีผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ทำให้มีสุขภาพดี “จิตอาสา” จึงถูกนำมาเป็นแนวปฏิบัติเพื่อสุขภาพดีด้วยเพื่อน (ตาย) คือ อวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต ทำหน้าที่ทำงานให้ตัวเราอย่างไม่มีเงื่อนไข อวัยวะร่างกายทุกส่วน รับใช้ช่วยเหลืออย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง หากดูแลอวัยวะไม่ดีพอ มีพฤติกรรมเสี่ยงจะเป็นตัวการทำร้ายอวัยวะในร่างกาย การมีสุขภาพดีแสดงถึงอวัยวะในร่างกายยังคงทำงานปกติ ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ควรต้องรู้จักวิธีการดูแลเพื่อน (ตาย) ให้ดีอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นที่มาสำหรับการดูแลเพื่อน (ตาย) ด้วยแนวปฏิบัติเพื่อสุขภาพดี 10 ประการ (Thailand 10 for Health) อันเป็นแนวคิดเชื่อมโยงกันเป็นการมีสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย)

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ ศอญ. กระทรวงศึกษาธิการ สสส. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในปี 2565 สถานการณ์เด็กไทยมีภาวะการเจริญเติบโตด้านร่างกายยังไม่สมส่วนเท่าที่ควร ส่งผลพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็ก อาทิ สูงดีสมส่วนเพียง 52.9% เริ่มอ้วนและอ้วน 15% เตี้ย 11.4% จึงได้มีจุดเริ่มต้นในการดำเนินโครงการฯ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เข้าถึงกิจกรรมเรียนรู้การส่งเสริมสุขภาพด้วยการเสริมสร้างทักษะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise for Health “E4H”)

และการเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพ (Lifestyle for Health “L4H”) ด้วยหลัก 10 อ ประกอบด้วย 1. อ. อาหาร 2. อ. (ไม่) อดนอน 3. อ. ออกกำลังกาย 4. อ. เช็คอัพ 5. อ. (ติด) อาวุธ (วัคซีน) 6. อ. (ไม่อ้วน) 7. อ. อันตราย 1 สารและสิ่งอันตราย 8. อ. อันตราย 2 พฤติกรรมเสี่ยง 9. อ. อารมณ์ 10. อ. อาสา มุ่งให้เด็กมีความใส่ใจรักสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นวิถีปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายพนัส บุญวัฒนสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการในโรงเรียนเป้าหมายสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 130 โรง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) 20 โรง เข้าร่วมกระบวนการและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านสุขภาพและทักษะการสร้างเสริมออกกำลังกายในโรงเรียนรวมทั่วประเทศ 150 โรง และมุ่งเป้าหมายการขยายผลมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม รวมถึงการสร้างเสริมทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพตั้งแต่วัยเด็ก โครงการนี้เป็นตัวอย่างการบูรณาการด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระบบโรงเรียน รวมถึงการพัฒนาคู่มือสำหรับครู เพื่อนำไปใช้เป็นคู่มือการเรียนการสอน ให้เด็กได้ปฏิบัติจริงได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นนโยบายนำร่อง ระดับโรงเรียนและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพดี

ภายใต้หลัก 10 อ เด็กจะสามารถสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตัวเอง เป็นรากฐานที่ดีให้เกิดการมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ สร้างจิตสำนึกทางสุขภาพที่ดูแลสุขภาพได้ดี (Health Conscious) นำไปสู่การเป็นพลเมืองด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (Active Citizen) ส่งต่อข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องให้กับคนรอบข้าง ขยายผลการสร้างเสริมขีดความสามารถของบุคคล ช่วยสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว.

Shares:
QR Code :
QR Code