‘คำพูด’ เส้นบางๆ ที่กั้นใจ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'คำพูด' เส้นบางๆ ที่กั้นใจ thaihealth


ไม่เพียงเผชิญปัญหาภายนอกที่ ส่งผลกระทบต่อความอบอุ่นของครอบครัว แต่เวลานี้หลายบ้านในประเทศไทยยังถูกท้าทายด้วยสถานการณ์ความรุนแรงภายในบ้าน ทั้งการทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ  แต่ยังมีอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยเปลี่ยน ปัญหานี้ได้ นั่นคือ "การสื่อสารเชิงบวก"


"ด้วยบุคลิกคนใต้ เป็นคนพูดเร็วพูดแรงห้วนๆ หน้าตาก็ดุ เด็กจะไม่ค่อยกล้าคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งลึกๆ แล้วเขาก็ รักกัน เป็นห่วงกันนะ" วรวุฒิ ไขแสง นักพัฒนาสังคมของจังหวัดตรัง ถ่ายทอดภาพสะท้อน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานภายใต้ โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนงานครอบครัวอบอุ่นที่เกิดจากความร่วมมืองานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว  (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าหมายร่วมกันผลักดัน และพัฒนาครอบครัวอบอุ่นให้มากขึ้นในประเทศไทย


สิริรส กิ้มเฉี้ยง ผู้อำนวยการ กองสวัสดิการสังคม ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง อีกหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญเล่าถึง การทำงานว่า "เริ่มจากเรามีการรวบรวมปัญหาจากภาคีเครือข่าย จนตกผลึกว่าจะทำอย่างไร ที่จะหาตัวชี้วัดเรื่องสัมพันธภาพ  เมื่อตั้งธงเสร็จปั๊บ ก็เลือกปัญหาโดย คิดจากบริบทชุมชนและข้อมูลที่ได้มา พัฒนาเป็นกิจกรรม"


โดยผลจากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ ทำให้ได้พบข้อมูลจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาร้อนและปัญหาหลักสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข นั่นคือเรื่อง "การสื่อสารเชิงบวก"


เรื่องที่ไม่เคยพูดถึง


"พวกเราเลือกเล่นใหญ่เลย คือเราอยากพูดเรื่องเพศ" วรวุฒิเอ่ยถึงหัวข้อที่พวกเขาหยิบยกมาคุยกับชุมชนหลังเกิดการ Brainstorm แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เรื่องนี้ยากที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากที่ผ่านมากลับไม่ค่อยมีใครกล้าพูดถึงประเด็นนี้


"คือถ้าคุยเรื่องเพศได้ล่ะก็ เรื่องอื่นก็ คุยได้หมด"


แต่คำวาเพศไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะเรื่องของ "เพศสัมพันธ์" อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะ "เพศ" มีความเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ตั้งแต่อาชีพ ศาสนา สุขภาพ วิถีของสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ไปจนถึงพัฒนาการทางเพศหรือธรรมชาติมนุษย์ ฯลฯ


"พอเรามีเรื่องจะคุย เราก็ต้องให้ความรู้กับเขาว่าสิ่งไหนคือพัฒนาการทางเพศ  สิ่งไหนคือพฤติกรรม เพื่อช่วยเขาทบทวน และให้เขารู้จักบทบาทหน้าที่เป็นอันดับแรก" ศิริรสเสริม


"เรื่องจริงที่ต้องยอมรับคือคนเรา ห้ามไม่ให้มีพัฒนาการทางเพศไม่ได้  แต่เราควบคุมพฤติกรรมได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างกิจกรรมเพื่อแยกแยะให้ทุกคนได้เห็น" เชาวลิต หาญกิจ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ทำหน้าที่เล่าถึง การทำงาน


"เราเลยตั้งคำถามกับเขาว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ชอบพฤติกรรมอะไรของวัยรุ่นเวลาที่เด็กทำ แน่นอนว่ามีทั้งเรื่องเด็กแวนซ์ แต่งตัวไม่สุภาพ นุ่งสั้น พูดไม่ดีกับพ่อแม่ เล่นเกม สูบบุหรี่ กินเหล้า กลับบ้านช้า ทีนี้อีกคำถามต่อมาที่เราอยากกระตุกใจเขาคือ ถ้าเขาย้อนไปสมัยตอนที่เป็นวัยรุ่น เขาเองมีพฤติกรรมหรือทำอะไรบ้าง หรือว่าเห็นคนอื่นทำ แล้วคิดว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องไม่ชอบแน่ แต่หากสังเกตจะรู้ว่า ปัญหาเหล่านี้ที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบแทบไม่แตกต่างกันกับปัญหาของเด็กวัยรุ่นทุกยุคที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าปัญหาไม่ได้เปลี่ยน แต่วัฒนธรรม ที่เปลี่ยน ผู้ใหญ่ควรมองว่าเด็กไม่ใช่ ปัญหาแล้ว แต่ต้องมองว่าเด็กเขากำลัง เผชิญปัญหา"


เมื่อประสบการณ์ชีวิตลูกยังไม่พอ บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง  ก็คือจะเตรียมการอย่างไรให้เขาเดินผ่านตรงนั้นมาได้ด้วยความปลอดภัย และเป็นอนาคตของชาติต่อไป คำถามดังกล่าว ถูกนำมาเชื่อมโยงสู่กิจกรรมต่อไป นั่นคือ การสื่อสารเชิงบวกในชื่อว่า "ทำอย่างนี้กับลูกก่อนไหม"


'คำพูด' เส้นบางๆ ที่กั้นใจ thaihealth


(อย่า) ตัดขาดกับลูกด้วยคำตำหนิ


"มีใครเคยพูดอย่างนี้กับลูกไหม"  วรวุฒิเริ่มเปิดประเด็นใหม่อีกครั้ง  ความจริงคำถามดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เกิดขึ้นในกิจกรรมที่ชื่อว่า "ย้อนรอยวัยรุ่น"


วรวุฒิยกตัวอย่างคำถามชวนตัดสัมพันธ์ที่หลายคนฟังแล้วอาจสะอึก ไม่ว่าจะเป็น "ทำไมกลับบ้านช้า" "ป่านนี้ทำไมเพิ่งกลับ" หรือ "ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา  ก็อย่ามาให้พ่อแม่แก้แล้วกัน"


"จริงๆ แล้ว ทุกคนรู้ดีว่าพ่อแม่มักถามด้วยความเป็นห่วง แต่ประโยคที่สื่อสารออกไปอาจกลายเป็นฟังดูจับผิดเขามากกว่าความห่วงใย แต่หากเราเปลี่ยนคำพูดให้ดูซอฟท์กว่านี้หน่อยล่ะ ใส่ความห่วงใยเข้าไปใน วิธีการสื่อสารกับเขาเป็น "ถ้ามีปัญหาขึ้นมา คนที่ต้องแก้ปัญหาให้ลูกคือพ่อแม่นะ"


หรือถ้าเราเปลี่ยนคำพูดที่เราเคยใช้เป็น"กินข้าวหรือยัง แล้วไปทำไรมาบ้าง"  เขาอาจกล้าที่จะยอมรับว่าเขาไปไหนมา แล้วอาจเล่าให้เราฟังว่าเขาไปทำอะไรมา เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนห่วงเขา (ลูก) นะ แต่สิ่งที่เราสื่อสารออกไป อาจไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเราห่วง แต่เป็นตำหนิหรือตักเตือนเขา"


ไม่ใช่แค่ "พ่อแม่กับลูก" แต่กับ "ทุกคน"


วรวุฒิยังถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของตัวเอง ถึงสัมพันธภาพระหว่างเขากับหลานวัยรุ่น


"ผมก็เคยเป็น เมื่อก่อนพอเขากลับบ้านช้า ก็ใช้วิธีคาดโทษไว้ว่ากลับมาต้องโดนตี หรือมักจะดุว่าเป็นประจำ ปฏิกิริยาตอบกลับโดยตรงของเขาคือเดินขึ้นห้อง ไม่พูดคุยกับเรา


พอเรามาทำงานตรงนี้ ก็เริ่มคิดว่า ต้องเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน เราเริ่มคิด คำพูดใหม่เปลี่ยนเป็นถามเขาว่า "วันนี้เรียนเป็นยังไง" "เรียนเหนื่อยไหม กินข้าว หรือยัง" สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จากที่เขาเคย เดินหนีเรา เปลี่ยนเป็นมานั่งใกล้เรา  เล่าให้เราฟังว่า เขาไปทำอะไรมาบ้าง  บางทีก็ระบายความรู้สึก เราสัมผัสได้ว่า เขาเริ่มรู้สึกว่าสื่อสารกับเราได้นะ"  วรวุฒิเปิดใจ


พวกเขายังเสนอให้หลายคนลองทบทวน ถึงความแตกต่างของคำว่า "ตักเตือน"  กับ "ตำหนิ" ว่า แม้คำจะใกล้เคียงกัน  แต่อาจมีเส้นบางๆ ที่กั้นอยู่ เช่นเดียวกับคำที่เด็กๆ อาจอยากให้พ่อแม่แยกให้ออกระหว่าง "เถียง" กับ "อธิบาย"


"ไม่ว่าเราจะเลือกใช้ประโยคที่ดูตำหนิ หรือตักเตือน ทุกอย่างมันจะส่งผลในอนาคตนะ เพราะคำตำหนิไม่ใช่คำพูดที่ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง แต่การใช้ประโยคคำถามเพื่อตักเตือนแทน เป็นคำถามปลายเปิด ที่ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง เพื่อถาม ผู้ฟังว่ารู้สึกอย่างไร เป็นการเปิดโอกาส ให้เราเป็นผู้ฟังมากขึ้น" เชาวลิตเสริม ความเห็น


"จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องยาก คนเราฟังตลอดชีวิตอยู่แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนเป็นการฟังให้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนอีกฝั่งที่ส่ง มาถึงเรา เพราะคนในครอบครัวเราไม่ใช่ นักแสดงที่เขาสามารถสื่อสารหรือถ่ายทอด ออกมาให้อีกฝั่งรับรู้ได้ ว่าเขารู้สึกอย่างไร ฉะนั้นเราต้องใช้การฟังด้วยหัวใจ"


ศิริรสแนะว่าการฟังด้วยหัวใจ อันดับแรกเราต้องตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าถ้าเราคุยกับลูก เราต้องฟังเขาพูดให้จบก่อน ถ้าจะพูดต้องเป็นการพูดแบบเสนอแนะ หรือ อาจถามอะไรเพื่อเป็นการเสริม


"ที่สำคัญเวลาถามคำถามกับลูก  ควรเป็นคำถามปลายเปิดเสมอ รวมถึง น้ำเสียง และกิริยาท่าทางต้องเปิดด้วย"


"กิจกรรมที่เราจัด เราให้ความหมายของ "ครอบครัว" ค่อนข้างกว้างนะ คือเราดูตั้งแต่ 0-70 ปี ซึ่งสิ่งที่เราเจอกับตัวเอง คือแม้แต่คู่สามีภรรยา เรื่องเพศคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมคุยหรือสื่อสารกัน หรือไม่รู้จะพูดยังไง แต่หลังเขามาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมกับเรา หลายคนที่เดินกลับมาสารภาพว่า เขาเริ่มสื่อสารกันภายในครอบครัวได้ ยิ่งหากครอบครัวไหนที่เข้าร่วมทั้งพ่อแม่และเด็ก ผลตอบรับจะเห็นได้ชัด" ศิริรสเอ่ย


สร้างเครือข่ายการสื่อสาร


ผลจากการถ่ายทอดกิจกรรมนี้ ในเครือข่ายแต่ละพื้นที่ทั้ง 10 แห่งในจังหวัดตรัง มีการพูดคุยถึงฟีดแบ็คที่ได้รับ ศิริรสกล่าวอย่างภูมิใจว่า ผลลัพธ์ที่ได้ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มในเชิงบวก โดยเฉพาะเบื้องต้น "นักพัฒนาครอบครัว" ที่เป็น Change Agent ของเธอกลุ่มนี้ นอกเหนือจากการเป็นสื่อในการถ่ายทอดสู่ชุมชน บรรดา ตัวนักพัฒนาครอบครัวเอง ก็ยัง "เปลี่ยน"


"หลังกิจกรรม เขาก็มาเล่าให้เราฟัง ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ "บังดำ"  ที่เนื่องจากความเป็นผู้ชายมุสลิมทำให้มีความเป็นผู้นำในครอบครัว และค่อนข้าง มีอำนาจ แต่พอเขาได้ฟังสิ่งที่เราถ่ายทอดให้เขา เขาเริ่มคิด แล้วกลับไปเปลี่ยนตัวเอง ที่บ้าน หรือทีมงานที่ทำงานคนหนึ่ง หลังกลับไปทำพื้นที่ เขาได้ไปนั่งทบทวนตัวเอง ทำให้รู้ว่าเมื่อก่อนเขามักใส่อารมณ์กับสามี คิดว่าชั้นทำงานกลับมาเหนื่อยๆ แต่พอผ่านกิจกรรมนี้ เขาเริ่มเข้าใจแล้วว่า เขาผิดเองที่แยกแยะไม่ได้ระหว่างงานกับครอบครัว" เชาวลิตบอกเล่า


"เรามองว่านวัตกรรมของเราคือกระบวนการที่เกิดขึ้น เราแทบไม่ต้องประเมิน เพราะตอนที่เรามาอบรมหลักสูตรนี้เรารู้เลยว่า มันเอาไปใช้ต่อได้แน่นอน เพราะมันขายได้ด้วยตัวเอง" ศิริรสบอกต่อ


"ในการทำงานเราใช้เรื่องการมีส่วนร่วมตลอด งานตรงนี้ยังทำให้ต่อยอด โชคดีคือเมื่อครอบครัวเขาโอเคขึ้น เขาก็ไว้ใจเรา รักเรา พอเวลาเราขอความร่วมมืออะไร  เขาทำเต็มที่ทำให้เกิดโครงการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อย่างพื้นที่บางรัก ยังไปของบจาก สสส. เพิ่มเพื่อนำอบรมเพิ่มให้ คณะทำงานในส่วนอื่น"


"พอเราได้เรื่องคน เราพยายามเสริมต่อเรื่องวิถีชีวิต คือให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ สำหรับในเด็กคือทักษะชีวิตเบื้องต้น ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่เราอยากสร้างตัวเองให้เข้มแข็งเหมือนพื้นที่อื่น แต่อย่างไรเราก็ไม่ทิ้งเรื่องการสื่อสารเชิงบวกนะ เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยบ่อยๆ" ศิริรสเอ่ยทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code