คัดกรอง มะเร็งเต้านม หนุนคลำเต้าด้วยตนเอง
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ.ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ขยายคัดกรองมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นครอบคลุมทั่วประเทศ หนุนหญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเอง รู้ความผิดปกติ หากพบควาผิดปกติ ตรวจอัลตราซาวนด์เพิ่มที่ รพ.ชุมชน เข้าถึงการรักษาเร็ว ลดเสี่ยงเสียชีวิต
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความสำเร็จของการต้านภัยมะเร็งเต้านมของประเทศไทย” ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ให้หญิงไทยอายุ 30-70 ปี จำนวน 1.9 ล้านคน นำร่องใน 21 จังหวัด ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถค้นพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระยะเริ่มต้น และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขยายการดำเนินงานเพิ่มอีก 55 จังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รณรงค์ให้สตรีทุกคนตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ควบคู่กับการบันทึกผลการตรวจลงใน “สมุดบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง” เป็นประจำ มีการติดตามโดยอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (อสมช.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากพบความผิดปกติจะตรวจยืนยันด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ที่โรงพยาบาลชุมชน และส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป พร้อมทั้งบูรณาการกับงานของมูลนิธิ พอ.สว. เพื่อให้สตรีที่อยู่ห่างไกลได้รับการดูแล เฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น และจะพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกการตรวจเต้านม คู่ขนานการใช้สมุดบันทึก รวมทั้งพัฒนาอสม.เป็นอสม.เชี่ยวชาญด้านการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เพื่อให้หญิงไทยทุกคนสามารถตรวจและทราบความปกติของเต้านมตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดการตายจากโรคมะเร็งเต้านมได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งเต้านมได้ลุกลามและแพร่กระจายแล้วคือ มีก้อนขนาดใหญ่และมีแผลที่เต้านม หรือมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม หากค้นพบเร็วก็จะสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ และตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน สำหรับหญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกเหนือจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว ควรเพิ่มการตรวจเต้านมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยทุก 3 ปี และเพิ่มเป็นทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควบคู่กับการตรวจเอกซเรย์เต้านม