คัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์

คัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนลดความเสี่ยงแท้งบุตร

คัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์

นายกำจร พลางกูร รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือในการดำเนินโครงการการพัฒนาระบบตรวจวินิจฉัย เพื่อคัดกรองการเกิดดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (tcels) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (nectec)  ว่าเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการตรวจวิเคราะห์ภาวะปัญญาอ่อนที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ประมาณ 1 ใน 600 คน ของการคลอดทั้งหมด และเป็นการตรวจคัดกรองจากการเจาะเลือดมารดาก่อนการตรวจโครโมโซมที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ทั้งนี้แต่เดิมการตรวจด้วยวิธีการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท แต่ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ราคาค่าตรวจลดลงกว่าครึ่ง

ด้าน นพ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ใช้วิธีการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจจำเพาะโครโมโซม ซึ่งวิธีการนี้เสี่ยงต่อการแท้งบุตร จึงนิยมทำเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง คืออายุ 35 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป คืออายุต่ำกว่า 35 ปี เด็กในครรภ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมได้เช่นกัน การคัดกรองจึงหันมาเลือกใช้วิธีเจาะเลือดมารดาเพื่อตรวจระดับสารเคมีในกระแสเลือด สารเคมีดังกล่าวได้แก่ alpha-fetoprotein(afp), human chorionic gonadotropin (hcg),  unconjugated estriol (ue3) หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ triple test ซึ่งในปัจจุบันการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงคือประมาณ 1,000– 2,000 บาท

นพ.วีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า แต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์จำนวน 8 แสนคน และประมาณ 7 แสนคน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี ในจำนวนนี้ 5% หรือประมาณ 35,000 คน อยู่ในกลุ่มผิดปกติในขณะที่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปซึ่งต้องเจาะโครโมโซมนั้น มีจำนวน 100,000 คน หรือประมาณ 1,000 คน อยู่ในกลุ่มผิดปกติไม่เกิน 3% เท่ากับ 97% เจาะโครโมโซมฟรี ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จะทำหญิงตั้งครรภ์ทุกคนเข้าถึงบริการการคัดกรองก่อนการเจาะโครโมโซม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะนำเสนอเพื่อให้ครอบคลุมในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคตต่อไป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code