ความเป็นวิชาการของ ‘นักวิชาการชุมชนท้องถิ่น’
เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘เสริมสร้างความรู้แก้วิกฤตโดยเอาพื้นที่เป็นที่ตั้ง’ แก้ปัญหาด้านสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และประธานกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิบัติ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘เสริมสร้างความรู้แก้วิกฤตโดยเอาพื้นที่เป็นที่ตั้ง’ ระบุว่าจุดอ่อนของประเทศ คือการบริหารงานส่วนใหญ่มักเป็นไปตามอารมณ์ของผู้ที่มีอำนาจ ตั้งแต่ผู้นำประเทศถึงระดับล่าง ไม่ได้นำเอาหลักวิชาการ หลักความรู้มาบริหารประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศที่มักจะเน้นไปในทางเศรษฐกิจ จนละเลยปัญหาด้านสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อันตราย มีความอ่อนไหวและไร้ทิศทางเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงจำเป็นต้องยกระดับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารชุมชนท้องถิ่น เพื่อชี้แนวทางในการจัดการที่ดี ให้มีความรู้ที่ถูกต้อง และนำพลังวิชาการมาปรับใช้
สำหรับพลังในเรื่องวิชาการนั้น เชื่อว่าความเป็นนักวิชาการไม่ได้อยู่ไกลตัว วิชาการที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ความรู้ในชุมชนที่สามารถนำมาใช้ในเชิงวิชาการเพื่อนำมาบริหารจัดการได้
นายสมพร กล่าวอีกว่า ปัญหาและความยากของนักวิชาการชุมชนท้องถิ่น คือกระบวนการสร้างการยอมรับ โดยในระยะแรกอาจจะยาก แต่เมื่อทำไปต่อเนื่องจะเข้าใจในหลักวิชาการ โดยผู้บริหารชุมชนกับนักวิชาการต้องแลกเปลี่ยนความรู้กัน และเห็นประโยชน์ในการนำวิชาการมาบริหารงานชุมชนท้องถิ่น
ด้าน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการ คณะบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์8 สถานการณ์ที่ชุมชนรู้จักและเข้าใจคือ 1) ท้องไม่พร้อม 2) การดูแลสุขภาพโดยชุมชน 3) อาหารปลอดภัย 4) สุขภาพของผู้สูงอายุ 5) สารเสพติด 6) ครอบครัวอบอุ่น 7) ภัยพิบัติ และ 8) อุบัติเหตุจราจร แต่อาจจะเข้าใจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความรู้หลักทางสังคมวัฒนธรรม หลักวิชาการ หลักปฏิบัติการจริง และหลักความรู้จากจินตนาการ
“งานทางหลักวิชาการ สามารถอธิบายได้บางส่วนแต่บางส่วนที่เป็นหลักทางสังคมวัฒนธรรม กลับตอบไม่ได้ฉะนั้นกระบวนการที่เราจะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ก็คือ ระหว่างหลักความรู้ทางด้านวิชาการ กับความรู้ที่อยู่ในสังคมวัฒนธรรม อะไรทำให้ปัญหาของเราลุล่วงไปได้” รศ.ดร.ขนิษฐา ตั้งคำถาม
รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวอีกว่า หลังจากเรียนรู้แล้ว ต้องนำความรู้อื่นๆ มาถ่ายทอดต่อยอด ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและย้ำว่า การนำเอาพลังความรู้มาใช้ต้องมีการสรุปบทเรียนเป็นชุดความรู้ที่อธิบายได้
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1