ความเครียดกับมะเร็ง

           จากหัวข้อข้างต้น หลายท่านคงกำลังสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างความเครียดและมะเร็ง ทั้งรูปแบบของความสัมพันธ์ไปจนถึงผลกระทบ ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรรู้ คือทำความเข้าใจในเรื่องของความเครียด ‘เพื่อนใกล้ตัว’ ให้ถ่องแท้เสียก่อน

/data/content/24205/cms/e_fpqruvw12359.jpg

            สาเหตุที่เรียก ‘ความเครียด’ ว่าเป็น ‘เพื่อนใกล้ตัว’ นั่นเพราะความเครียดคือการตอบสนองของร่างกายของเรา ต่อสภาวะกดดันทางกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งทำให้คนเรารู้สึกคับข้องใจ, ท้อแท้, โกรธ หรือวิตกกังวล และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ปฏิเสธไม่ได้แน่ๆ ค่ะว่าคนเราต้องพบเจอความเครียด เพียงแต่จะมากหรือน้อยต่างกันเท่านั้น

            ตามปกติ ‘ความเครียด’ มักเกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตนเองไม่สามารถจัดการได้ และทันทีที่เกิดความเครียด ร่างกายของคนเราก็จะตอบสนองด้วยการสร้างฮอร์โมน อันได้แก่ epinephrine หรือ adrenaline และ cortisol ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น เป็นผลให้คนเรามีความตื่นตัว แข็งแรงและมีพลังพร้อมรับกับสถานการณ์ จึงนับว่าความเครียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นประโยชน์ที่ทำให้เราตื่นตัว กระตือรือร้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

          แต่ในทางกลับกัน หากความเครียดนั้นกินระยะเวลายาวนาน มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ความเครียดดังกล่าวย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ปัญหาสุขภาพจิตก็เกิดขึ้นตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อาทิ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล นอกจากนี้ความเครียดจะนำไปสู่พฤติกรรมหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม อย่างการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดอื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลให้อัตราความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมีมากขึ้น

            นอกจากนี้ การศึกษาทั้งในคนและสัตว์หลายแห่ง พบว่าความเครียดที่เรื้อรังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งที่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส อย่าง Kaposi sarcoma และ lymphoma บางชนิด ทั้งการศึกษาในสัตว์ยังพบว่า ฮอร์โมนที่ถูกปล่อยออกมาในกระแสเลือดจากการกระตุ้นของระบบประสาท มีผลรบกวนกระบวนการของเซลล์ในการป้องกันการเกิดมะเร็งอีกด้วย

            จากข้อมูลข้างต้น ดูเหมือนผลกระทบจากความเครียดต่างหากที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง นอกจากนั้นการศึกษาในปัจจุบันเองก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่าความเครียดจะทำให้เกิดมะเร็งได้โดยตรง แม้ในบางแห่งจะพบความเกี่ยวข้องระหว่างปัจจัยทางจิตใจและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าความเครียดคือสาเหตุโดยตรงของโรคดังกล่าว

            อย่างไรก็ตาม การศึกษาในบางแห่งกลับพบต่างออกไป แม้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับการเกิดมะเร็ง แต่ผลที่ได้รับจากการศึกษา คือความเครียดส่งผลต่อการขยายขนาดและแพร่กระจายของเนื้องอก เช่นเดียวกับการวิจัยในสัตว์ที่พบว่าฮอร์โมนซึ่งหลั่งออกมาเนื่องจากความเครียด มีผลต่อการทำงานของเซลล์มะเร็งได้โดยตรง

            การศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยอีกมากที่พบว่าปัจจัยทางจิตใจมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็ง เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง หรือ อารมณ์เชิงลบที่ถูกเก็บกดไว้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการขยายขนาดและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

            มาถึงตรงนี้หลายท่านคงมึนงงสงสัยว่า เหตุใดผลการศึกษาจากหลายๆ แห่งจึงไม่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องด้วยการศึกษาถึงความสัมพันธ์เหล่านี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อโรคและพฤติกรรมการเป็นโรค เพราะฉะนั้นการแยกแยะและควบคุมปัจจัยต่างๆ จึงทำได้ยาก

           โดยสรุปแล้ว ผลของความเครียดต่อการเกิดมะเร็งนั้น มีความสัมพันธ์ในการเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความเสี่ยง ทั้งยังส่งผลให้มะเร็งขยายขนาดและลุกลาม แม้ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่แน่ชัดว่าจะทำให้เกิดได้โดยตรง แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกอยู่เสมอหลังจากอ่านบทความนี้ คือเราต้องรู้จักจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ให้ส่งผลร้ายต่อตัวเราค่ะ

 

 

           ที่มา : เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดย แพทย์หญิงกฤตชญา ฤทธิ์ฤๅชัย

            ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code