ความอาย คือ สารก่อมะเร็งปากมดลูก
ที่มา:มติชน
แฟ้มภาพ
จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และพบอัตราเสียชีวิตถึง 50% ในประเทศไทย แต่ละวันจะมีผู้หญิงไทยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก 18 คน และมีผู้เสียชีวิต 2,200 คนต่อปี เฉลี่ย 6 คนต่อวัน หรือราว 4 คนต่อ 1 ชั่วโมง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น
ถือได้ว่าเป็นอัตราที่สูง ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ สาเหตุหนึ่งเกิดจากผู้หญิงไทยไม่กล้าที่จะออกมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพราะอายนั่นเอง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดโครงการ "ความอายคือสารก่อมะเร็ง" กระตุ้นให้หญิงไทยก้าวข้ามความอาย เข้ารับการตรวจคัดกรองค้นหาความผิดปกติของมดลูกและลดความเสี่ยงการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูก พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์สั้นเรื่อง "อาย" เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งปากมดลูก โดยจัดแถลงข่าว ณ ลานกิจกรรมทางเชื่อมบีทีเอส ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า แม้ปัจจุบันเราจะรู้ว่าสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งปากมดลูกคือเชื้อเอชพีวี ชนิด 16 และ 18 แต่สถิติที่สูงขึ้นก็เพราะว่าผู้หญิงไม่ค่อยมาตรวจคัดกรอง ต้องรอให้มีอาการ ซึ่งจะเป็นมะเร็งระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว แต่โดยทั่วไปผู้หญิงร้อยละ 80 เคยมีเชื้อเอชพีวี หรือกำลังมีแต่ไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่แสดงให้เห็นและมีโอกาสหายเองโดยไม่ต้องรักษา อีกทั้งจากข้อมูลเราพบว่าผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น มีก่อนการแต่งงาน แต่ไม่มาตรวจเพราะไม่เห็นความสำคัญและเพราะอาย จึงเป็นที่มาให้เราออกโครงการนี้เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงมาตรวจก่อนจะพบโรคร้าย เพราะการตรวจพบได้ไวย่อมรักษาได้เร็วกว่า
"หลายคนมักมีความเข้าใจผิดกับเรื่องของมะเร็งปากมดลูก ที่จริงเราต้องแยกกันระหว่างการลดป่วยและลดตาย การลดป่วยคือการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งได้ผลดีประมาณ 80% แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่เป็นตัวแปรด้วย หลังจากการรณรงค์เมื่อปี 2548 เป็นต้นมาเราช่วยลดการป่วยลงได้มากจาก 24 ในแสนราย เป็น 14 ในแสนราย แต่การลดตายนั้นยังไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะคนไม่มาตรวจคัดกรอง นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องตรวจคัดกรอง ซึ่งไม่จริง เนื่องจากไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด และผลการศึกษาพบว่าวัคซีนจะครอบคลุมได้ประมาณ 9 ปี ผู้หญิงจึงควรมาคัดกรองไว้ก่อน ที่สำคัญคือบางคนคิดว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถป้องกันได้แท้จริงเหมือนโรคอื่นๆ"
นอกจากนี้ นพ.วีรวุฒิยังได้แนะวิธีการหลีกเลี่ยงความอายสำหรับผู้หญิงว่า ปัจจุบันการตรวจมะเร็งปากมดลูกนั้นไม่เจ็บและง่ายกว่าเดิมมาก สามารถตรวจหาได้ทั้งในระดับเซลล์ หากไม่พบเชื้อเอชพีวีก็สามารถฉีดป้องกันไว้ได้ทันที นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์การตรวจที่ผู้หญิงสามารถทำเองได้ที่บ้านและส่งผลไปตรวจ แต่ยังมีราคาแพงและอาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาตรวจคัดกรอง เพราะสำหรับผู้หญิงแล้วหากคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมที่ทำได้ง่ายแล้ว ก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไปแล้วกว่า 70%