ความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน

เพศสภาพ สรีระ หรือ มายาคติเราลองทำตัวเป็นมนุษย์ต่างดาวที่เอากล้องส่องทางไกลส่องมายังโลกมนุษย์ เราจะค้นพบว่าโลกใบนี้มีมนุษย์ที่มี “เพศ” หรือ “เพศสรีระ” แค่เพียง 2 เพศเท่านั้น คือ “เพศชาย” และ “เพศหญิง” แต่ถ้าเรามองให้พ้นจากเพศสรีระ แต่ทว่ามองให้ลึกถึงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ เราจะค้นพบว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ 2 เพศ แต่มันมีความหลากหลายที่ลึกล้ำ และงดงามในวิถีทางของมัน

แต่เหตุใดหนอ เราทุกคนถึงยัง “ติดหล่ม” อยู่กับอะไรบางอย่าง ซึ่งยังค้างๆ คาๆ และหลุดไม่พ้น ซึ่งอะไรบางอย่างที่ว่า ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เผยว่า สิ่งนี้คือ “มายาคติ” ที่ทำให้เราถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมความเป็นชายและความเป็นหญิง จนไม่สามารถมองเห็นถึงคุณค่าของความหลากหลาย และยอมรับในคุณค่านั้นๆ ได้อย่างง่ายดายนัก

“คนในสังคมจึงมักเอนเอียงถึงขั้นเกลียดอะไรบางอย่าง ในขณะที่ชอบอะไรบางอย่าง เลือกอะไรบางอย่าง ขณะที่เผลอปฏิเสธอะไรบางอย่าง”

เราจึงเห็นว่าในสังคม (โดยเฉพาะสังคมไทย) ยังมีคนที่เกลียด เลือกปฏิบัติ หรือปฏิเสธเพศอันหลากหลาย โดยไม่ยอมเข้าใกล้ บางครั้งไม่ได้เกลียด ไม่ได้ปฏิเสธ หรือไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่ลึกๆ ข้างในกลับเว้นช่องไฟเอาไว้แบบห่างๆ เพราะความแปลกแตกต่างจากเพศที่สังคมยอมรับ หรือไม่ก็มองเห็นความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องตลกขบขัน ที่เอามาล้อเลียนอย่างสะใจ โดยไม่ได้เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

“ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เจริญจริงๆ เป็นสังคมที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนทุกเพศทุกวัย คนทุกคนต้องได้รับศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน ในสังคมศิวิไลซ์ การแบ่งแยกทางเพศ หรือแม้กระทั่งไม่ให้ผู้หญิงทำนั่นทำนี่ เขาไม่กระทำกัน เพราะนั่นเหมือนสังคมกำลังตีตรา ประณาม หรือกีดกัน ทำให้เขาด้อยโอกาสในหลายๆ เรื่อง”

ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ได้กล่าวถึงสังคมศิวิไลซ์ที่ต้องเปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งยังต้องใจกว้างให้กับศักดิ์ศรีความเป็นคนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

แล้วเราจะหลุดพ้นจากมายาคติเรื่องเพศ อีกทั้งดำรงตนอย่างคนที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนทุกเพศทุกวัย โดยไม่เผลอตีตรา ประณาม หรือกีดกันได้อย่างไร นักวิชาการทั้งสองท่านเผยถึงแนวร่วมเดียวกันว่า เราต้องให้คุณค่ากับอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศของคนทุกคน โดยไม่นำวัฒนธรรมความเป็นชายและความเป็นหญิงมาครอบงำ

“จากที่คนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็มีเรื่องที่น่ายินดี ที่ทำให้พอมองเห็นหนทางหลุดพ้นได้บ้าง นั่นก็คือเรื่องที่ศาลปกครองสั่งให้ทางกระทรวงกลาโหมแก้ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินที่ระบุกลุ่มกะเทยที่มีนม ผมยาวแบบผู้หญิงเป็นพวกโรคจิตถาวร แก้ไขเป็นภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

เมื่อ ผศ.ดร.สุชาดา กล่าวถึงประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้เราได้ต่อยอดสืบค้นความหมายของคำว่า “โรคจิตถาวร” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งค้นพบว่าโรคจิตถาวร หมายถึง โรคทางจิตใจที่มีความผิดปกติของความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมอย่างแรงถึงขนาดคุมสติไม่อยู่ เช่น มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน วิกลจริต อีกทั้งความหมายที่เป็นศัพท์เฉพาะในทางวิชาการของกรมสุขภาพจิต โรคจิตถาวร หมายถึง โรคที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจและอารมณ์ คนที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่มีเต้านมแบบสตรี และมีบุคลิกลักษณะเป็นหญิง จึงไม่ใช่บุคคลที่มีอาการที่แสดงออกถึงความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมอย่างแรงถึงขนาดคุมสติไม่อยู่ เช่น มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน หรือวิกลจริต นั่นหมายความว่าพวกเธอเหล่านี้ไม่ใช่คนที่เป็นโรคจิตถาวรแต่อย่างใด พวกเธอเหล่านี้ก็คือคนที่มีหัวใจ มีความรู้สึกรู้สา และมีความสามารถในการเลือกเส้นทางเดินของตนเอง ไม่ต่างจากชายจริงหรือหญิงแท้แต่อย่างใด

ดร.นฤพนธ์ กล่าวเสริมว่า สังคมไทยพ่อแม่มีอิทธิพลมากที่สุด เพราะพ่อแม่เป็นคนแรกที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นหญิงหรือชายตามที่สังคมกำหนด

“ถ้าครอบครัวไหนพ่อแม่ไม่เคร่งครัด ลูกก็จะมีอิสระในการเลือกเส้นทางเดินของตัวเองว่าอยากเป็นหญิงหรือเป็นชาย ชอบผู้หญิงหรือชอบผู้ชาย แต่ถ้าครอบครัวไหนที่พ่อแม่เคร่งครัดและแสดงออกถึงการรับไม่ได้ หากลูกไม่มีความเป็นชายหรือความเป็นหญิงตามที่สังคมกำหนด ก็จะกดดันลูก ทำให้ลูกเก็บกด และเลือกเส้นทางเดินของตัวเองแบบลับๆ”

วรินทร วัตรสังข์ หรือ แอนนา ทีวีพูล นักข่าวสายบันเทิง และรองอันดับ 1 มิสเอซีดีซี ปี 2012 เผยว่า เด็กมักเกิดความสับสน แม้จะรู้ว่าตนเป็นอะไร หรือมีรสนิยมทางเพศแบบใด แต่ถ้าไม่มีพ่อแม่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ หรือพ่อแม่ยอมรับไม่ได้ คอยแต่กดดันลูก ก็อาจทำให้เด็กใช้ชีวิตแบบลองผิดลองถูกได้

“อย่างแอนนาลองผิดลองถูกมาโดยตลอดตั้งแต่มัธยม ก็ลองแต่งหญิงมั่ง ลองไม่แต่งมั่ง ทั้งๆ ที่ตัวเองชอบแบบแต่งหญิงมากกว่า แต่ที่ต้องแต่งชายเพราะกลัวสังคมไม่ยอมรับ กลัวเรื่องหน้าที่การงาน กลัวว่าสมัครที่ไหนแล้วเขาจะไม่รับ กลัวว่าพ่อแม่จะรับไม่ได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว  คือแต่งหญิง ผมยาว สิ่งที่แอนนากลัวว่าไม่ใช่เลย แอนนาคิดผิดหมด พ่อแม่รับเราที่เราเป็นเราได้ ท่านขอเพียงให้เราเป็นคนดี ทำมาหากินอย่างสุจริต รับผิดชอบตัวเองได้ เท่านี้พอ”

จากประสบการณ์ที่แอนนาได้ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ เธอค้นพบว่าคนต่างชาติมองว่าสังคมบ้านเราเปิดรับคนหลากหลายทางเพศได้มากกว่าบ้านเขา แต่ทำไมกฎหมายของบ้านเราถึงไม่รองรับสิทธิมนุษยชน ในขณะที่บ้านเมืองเขามีกฎหมายรองรับ ทั้งๆ ที่คนในสังคมที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ก็ไม่ได้เปิดเผยตัวตนแบบเต็มร้อยมากขนาดนี้

“หากมองการแต่งงานของเพศที่หลากหลาย การแต่งงานก็ทำให้คนเหล่านี้มีสิทธิในการดูแลกันและกัน ทั้งด้านการเงิน ด้านราชการ ด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งมันเป็นผลดีต่อเพศที่หลากหลายเหล่านี้ ขอเพียงอย่าไปหวังมาก เพราะเราไม่ได้เกิดมาเต็มร้อย หวังแค่ 50 กับสิ่งเหล่านี้พอ เรื่องความรักอย่ามองไกล เอาแค่วันต่อวัน คนเป็นทุกข์เพราะชอบมองไปไกลๆ เราไม่ได้แต่งงานมีลูกอยู่แล้ว”

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดย ตุลย์ จตุรภัทร

Shares:
QR Code :
QR Code