ความสำเร็จมาพร้อมกับความสูญเสีย ถ้ามีเหล้าในงานเลี้ยงรับปริญญา

 

ความสำเร็จมาพร้อมกับความสูญเสีย ถ้ามีเหล้าในงานเลี้ยงรับปริญญา

 

ค่านิยมการเลี้ยงรับปริญญาถือว่าเป็นของคู่กันมากับสังคมไทย ที่มีการสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นเทศกาลของการแสดงความยินดีและประกาศความสำเร็จของผู้เรียนและครอบครัว การจบการศึกษานั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทตนเองครั้งยิ่งใหญ่ จากสภาพนักศึกษาที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ กลายมาเป็นคนวัยทำงานที่ต้องทำมาหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่การเฉลิมฉลองความสำเร็จเกือบทุกที่จะมีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงเหตุผล เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างว่าที่บัณฑิตและน้องๆ และแอลกอฮอล์ยังเป็นตัวช่วยเพิ่มความสนุกสนานให้กับงานเลี้ยงนั้นๆ 

นายรักพงศ์ คำซาว เครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า เหล้า เหตุผลของคนดื่มคือ เพื่อสร้างความสำพันธ์อันนี้และเพื่อให้งานนั้นสนุกสนานยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เราพบตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องข่าวของนักศึกษาบัณฑิตที่ไม่จบการศึกษา เนื่องจากการไปฉลองแค่เพียงชั่วข้ามคืน ทำให้คน 1 คน ไม่สามารถเข้ารับการพระราชทานปริญญาบัตรได้ เพราะอาจจะทำให้คนนั้นเสียร่างกายหรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตเพราะแอลกอฮอล์ ทั้งที่ไม่มีใครบอกได้ว่า การดื่มเหล้าในการฉลองรับปริญญาเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่ส่งเสริมความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องได้เป็นอย่างดี 

ด้าน นายณัฐพล ศรีบุญเที่ยงอาสาสมัครรณรงค์งดเหล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายคุณทำได้ ได้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้น ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 220 คน ตั้งแต่วันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2555 ในเรื่องความคิดเห็นและทัศนคติต่อการเลี้ยงฉลองของบัณฑิตด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการพานักศึกษาไปเลี้ยงด้วย พบว่า นักศึกษาร้อยละ 87.03 ไม่เห็นด้วยกับการที่พี่บัณฑิตพาไปเลี้ยงฉลองโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะพี่บัณฑิตไม่ดื่ม สิ้นเปลือง สุขภาพพี่บัณฑิตเสื่อมโทรม ดื่มแล้วอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และนักศึกษาร้อยละ 12.97 เห็นด้วยกับการที่พี่บัณฑิตพาไปเลี้ยงฉลองโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะได้เจอพี่บัณฑิต งานเลี้ยงควรมีแอลกอฮอล์บ้าง แต่ไม่ควรดื่มมาก ต้องรู้จักยับยั้ง จะได้สนิทกับพี่บัณฑิต

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า การไปเลี้ยงฉลองโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจัดเลี้ยงที่ร้านอาหารที่ไม่มีแอลกอฮอล์จะอยู่ประมาณ 1,000-2,000 บาท แต่ถ้าจัดเลี้ยงในร้านที่มีแอลกอฮอล์ 3,000-5,000 บาท ส่วนผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงฉลองบัณฑิต นักศึกษาส่วนใหญ่ เห็นว่า ด้านตนเอง ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพและจิตใจ ทำลายสมอง สิ้นเปลืองเงิน ความสัมพันธ์กับแฟนและครอบครัวลดน้อยลง ด้านสังคม เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ซึ่งอาจจะทำให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่ได้

สำหรับความชอบและพอใจต่อการเลี้ยงฉลอง ปรากฏว่า นักศึกษาร้อยละ 64.55 ชอบและพอใจกับการที่พี่บัณฑิตพาไปฉลองโดยเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ เช่น หมูกระทะ ร้านนม ซาบูชิ ฟิชซ่า mk kfc เป็นต้น นักศึกษาร้อยละ 24.45 ชอบและพอใจกับการที่พี่บัณฑิตพาฉลองโดยดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง ถ่ายรูป นักศึกษาร้อยละ 9.67 ชอบและพอใจกับการที่พี่บัณฑิตพาฉลองโดยพาท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ 

นอกจากนี้ทางเครือข่ายคุณทำได้ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาได้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การเลี้ยงฉลองแบบสร้างสรรค์มีหลากลายรูปแบบ ซึ่งบัณฑิตควรเป็นแบบอย่างที่ดี เลือกที่ชวนน้องไปสังสรรค์ในแบบที่ดีงาม และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ปลื้มปีติ ให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อฉลองในการรับปริญญา อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เสียสุขภาพจิต ร่างกายเสื่อมโทรม หรือเกิดเหตุทะเลาะวิวาทได้ ทำให้ไม่สามารถเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ สร้างความเสียใจให้แก่ครอบครัว ดังนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จึงเห็นตรงกันกับคำว่า “รักน้องจริง อย่าชวนน้องดื่ม” ความสำเร็จของบัณฑิตที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจพบกับความสูญเปล่า ถ้าหากเหล่าบัณฑิตยังมีค่านิยมเลี้ยงฉลองการรับปริญญาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงอยากให้เหล่าบัณฑิตทั้งหลายลองพิจารณาดูกันว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงรับปริญญาเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่ควรจะแลกด้วยความสำเร็จและอนาคตหรือไม่

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code