“ความรุนแรง” ไม่ใช่แค่บาดแผลที่มองเห็นด้วยตา

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบ หญิงไทยเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงถูกละเมิด ถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน มีสถิติผู้หญิงเข้ารับการรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 คน และรายงานจากสื่อ พบว่า บุคคลเพศหลากหลายในไทย ถูกสังหารจากความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศ จำนวน 21 คน

                    ขณะที่ผู้หญิง 736 ล้านคนทั่วโลก เกือบ 1 ใน 3 เคยถูกระทำรุนแรงทั้งร่างกายและทางเพศ จากคู่รักหรือสามี อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ดังนั้นความรุนแรงทางเพศ นับเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิทางมนุษยชน เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และส่งผลเสียต่อการพัฒนา

                    โดยสถิติความรุนแรงทางเพศจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า จำนวนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม มีจำนวน 81,000 คน และมี 45,000 คนจากทั้งหมดเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวตนเอง ดังนั้น บ้านอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กเสมอไป เนื่องจากกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ถูกกระทำด้วยเช่นกัน

                    มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ปี 2565 มีรายงานเรื่องราวความรุนแรงในครอบครัว 1,131 เหตุการณ์ พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เป็นตัวกระตุ้นสูงถึง 347 ข่าว สาเหตุมาจาก หึงหวง ระแวง ง้อไม่สำเร็จ วิธีการที่ใช้มากสุด คือ การใช้อาวุธปืน ใช้ของมีคม และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต

                    ส่วนผู้อยู่รอด ยังตามมาด้วยจิตใจแปรปวน อับอาย ตกในภาวะซึมเศร้า หวาดกลัว ท้อแท้ มีความหวาดระแวงงรวมถึงภาวะแทรกซ้อนอาจตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ มีความเครียดทางสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาว สูญเสียความมั่นใจการดำเนินชีวิต กลัวสังคมไม่ยอมรับ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแน่นอนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงนั้น มีมากกว่าสถิติที่รายงานมาทั้งหมด เพราะยังมีผู้ถูกกระทำอีกมากที่ไม่กล้า เปิดเผย จึงส่งผลความรุนแรงยังคงต้องเผชิญกับการท้าทายถึงการใช้ชีวิตอย่างขาดคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนควรมีอิสรภาพ มีความปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันในทุกที่ทุกเวลา

                    ในซีกฝั่งสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ยังพบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพและสังคม ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ เฉลี่ยรวมมากถึงปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

                    นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลความรุนแรงทางเพศจากข่าวหนังสือพิมพ์ ของ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ผู้ถูกกระทำมักเป็นเยาวชนในช่วงอายุ 6-20 ปี ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดหรือครอบครัวมากกว่าคนแปลกหน้า เนื่องจากความไว้วางใจ ทำให้เด็กเกิดความเกรงใจ เชื่อมั่นความเป็นญาติ หรือคนใกล้ชิดพบอีกว่าผู้กระทำส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 16-30 ปี ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคม หรือมีวุฒิภาวะมากกว่า ในแทบทุกอาชีพ ที่อยู่ในสถานะภาพมีความน่าเชื่อถือ

                    จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาการคุกคามทางเพศในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากความรุนแรงต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่การใช้อำนาจบังคับข่มขู่ จะทำได้แนบเนียนต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และมายาคติแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้ไม่กล้าลุกขึ้นมาขอความช่วยเหลือเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย

                    นักวิชาการสังคม กล่าวตรงว่า การแก้ไขปัญหา สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกัน โดยจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่แรก เช่น การหึงหวง การบังคับควบคุม ข่มขู่ รุกราน รวมทั้งกรณีที่มีปัจจัยที่ทำให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ยาเสพติดร่วมด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เช่น ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี รวมไปถึง การสะท้อนภาพผ่านสื่อ LGBTQIA+ ต้องตลก รุนแรง มีความต้องการทางเพศสูง สร้างวาทกรรมล้อเลียน

                    อย่างกรณี “เปลี่ยนทอมเป็นเธอ” ที่สังคมคิดว่า หากทอมมีอะไรกับผู้ชายจะเปลี่ยนผู้หญิงได้กันเป็นเรื่องตลก ทำให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่กล้าออกมาเรียกร้องและรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นเรื่องน่าอาย ไม่มีทางที่สังคมจะเข้าใจได้  ยิ่งทำให้การลุกขึ้นมาสื่อสารเมื่อเกิดปัญหายากมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคู่รัก LGBTQIA+ ก็เกิดปัญหานี้ไม่ต่างจากที่เกิดกับผู้หญิง แต่สร้างบาดแผลได้ไม่แพ้กัน เนื่องจากความเป็นจริง “ความรุนแรง” กลับอยู่รอบตัวเรามากกว่าที่คิด ดังนั้น ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ถูกทำร้าย ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสนอว่าไม่จำเป็นต้องสู้เพียงลำพัง

                    หากรู้สึกไม่ปลอดภัย รีบพาตัวเองออกจากสถานการณ์ความรุนแรงให้เร็วที่สุด และขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ กรณีได้รับบาดเจ็บ ให้ติดต่อหน่วยงานช่วยเหลือฉุกเฉินหรือตำรวจ หาความรู้ทางกฎหมาย รวบรวมหลักฐานเกี่ยวข้องต่อการกระทำ รวมถึงหลบหาที่อยู่ชั่วคราว เพื่อเป็นเครื่องมือคุ้มครองป้องกันการถูกกระทำซ้ำ หรือ ถูกระรานไม่ยอมเลิกรา

                    สอดรับกับ 62 องค์กรเรียกร้องให้รัฐบาล เพื่อยุติความรุนแรง ควรยกเป็นวาระแห่งชาติ  เมื่อ 8 มีนาคม  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดให้มีหน่วยพิเศษ Special Unit รองรับการดำเนินคดีความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลาย เป็นการเฉพาะ และจัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงอย่างน้อยในทุกอำเภอทั่วประเทศ

                    สสส. มองว่า …ผู้หญิงหรือเด็กทุกคนไม่ควรต้องถูกทำร้าย เนื่องจากเหยื่อผู้ถูกกระทำยังต้องมีราคาที่จะต้องจ่าย คือ ความรู้สึก ที่ไม่อาจลืมเหตุการณ์ที่เจ็บปวดได้ แม้จะผ่านมานานแล้วก็ตาม

                    อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมองในมุมใด สสส.และภาคีเครือข่ายฯ ยังคงมุ่งมั่นเรียกร้องให้รัฐและสังคมทุกภาคส่วน สานพลังปกป้อง คุ้มครอง มิให้ผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลาย ที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทุกเพศทุกวัย

Shares:
QR Code :
QR Code