ความบันเทิงสุด ‘พรรณนา’ ใน ‘โลกแห่งความมืด’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ความมืดสร้างความอึดอัดหรือความกลัวให้ใครหลายคน แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่ว่าจะเศร้า เหงา ทุกข์ สุข หรือแม้แต่ความบันเทิง ล้วนเกิดขึ้น ในโลกแห่งความมืด
ภาพยนตร์ ความบันเทิงที่ใช้ภาพและเสียงสื่อสารเรื่องราว และเมื่อคนตาบอดอยากดูหนัง คำถามจึงเกิดขึ้น…พวกเขาจะดูหนังอย่างไร?
บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกัน สร้างภาพความบันเทิงในความมืดให้ชัดขึ้น ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตาในโปรเจค "HOMESTAY เมื่อสวรรค์ให้รางวัลสุดพรรณนา" ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ โดยผู้พิการทางสายตาสามารถชมภาพยนตร์พร้อมกับการใช้แอปพลิเคชัน เสียงบรรยายภาพที่ชื่อ "พรรณนา" (Pannana) ซึ่งถือเป็นแอปฯ แรกของประเทศไทยที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาชมภาพยนตร์ได้อย่างมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากการเปิดตัวไปเมื่อปี 2560 ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีในกลุ่มผู้พิการทางสายตา
นฤมิตร จิตรัตน์ ผู้พิการทางสายตา ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่าว่า เขาเป็นคนชอบดูหนังทุกแนว แต่การดูทั่วไปได้ยินเพียงเสียงของตัวละคร ซึ่งต่างจากการดูผ่านแอพฯ ที่บรรยายฉากสถานที่ รวมถึงสีหน้าของตัวละคร ซึ่งทำให้เขาและผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ จินตนาการภาพได้ชัดและดูหนังอย่างมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
"ปกติแล้วผมหากิจกรรมยามว่างนอกจากออกกำลังกายและผมก็ชอบดูหนัง ฟังเพลง เหมือนคนตาดีนั่นละครับ แต่การดูหนังของเรามันต่างกัน คือ เขาดูด้วยตา แต่เราใช้จินตนาการดูครับ ซึ่งการมีแอพฯ นี้ ทำให้ผมเห็นภาพในหนังชัดขึ้น อยากให้คนตาดีลองปิดตาใช้แอปพลิเคชั่นนี้ แล้วคุณอาจจะได้รับความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้" นฤมิตร กล่าว
พิมศิริ ใจภักดี คนตาดีที่ทดลองใช้ แอปพลิเคชันพรรณนา เล่าให้ฟังหลังชมภาพยนตร์จบว่า การดูหนังผ่านแอพฯ คล้ายๆ กับการฟังละครวิทยุที่มีคนเล่าบรรยายฉากให้เห็นภาพ แต่เราจะได้ยินเสียงตัวละครและเอฟเฟกต์จากหนังต้นฉบับ ส่วนตัวมีความเชื่อว่าประสาทสัมผัสของ ผู้พิการจะดีกว่าคนทั่วไป เช่น ถ้าตามองไม่เห็น แต่ประสาทสัมผัสทางหูจะดีกว่าคนปกติ ซึ่งคนตาบอดมีความสามารถด้านการฟัง
"ปกติคนตาดีอย่างเราก็ดูหนังมีความสุขดีได้เห็นภาพจากดวงตา พวกเขาได้ดูหนังเหมือนที่เราได้ดู เพียงแต่เรา ดูด้วยตาและฟังเสียงก็เห็นภาพทันที แต่คนตาบอดสามารถจินตนาการภาพได้จากเสียงบรรยาย ซึ่งกิจกรรมแบบนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเขามันเป็นช่องทางให้เขารับรู้ความรู้สึกในการดูหนังมากขึ้นและเป็นโอกาสให้ได้รับความสุขจากความบันเทิงด้านนี้" พิมศิริ กล่าว
พิมศิริ เล่าต่อว่า การได้เห็นผู้พิการมีความสุขทำให้เธออยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆ แบบนี้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มกล่องดินสอซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรม โดยช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เธอเข้าร่วมกิจกรรม
ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งและ ผู้บริหาร บริษัท กล่องดินสอ จำกัด กล่าวว่า กิจกรรมใหญ่แบบนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพยนตร์ในเครือจี ดี เอช ซึ่งหนังที่เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ต้องอาศัยความร่วมมือจากค่ายหนังในการทำ AD เสียงบรรยายภาพลงแอปพลิเคชัน ให้ทันรอบฉายในโรงหนัง ซึ่งปกติจี ดี เอช ทำเป็นรูปแบบซีดีอยู่แล้ว แต่พอมีแอพฯ ทางกลุ่มกล่องดินสอจึงชวนให้ทำเสียงบรรยายภาพให้เร็วขึ้น เพื่อผู้พิการทางสายตา จะได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์
"ทุกครั้งก็จะมีผู้พิการทางสายตาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นทุกครั้ง จนเก้าอี้ไม่พอ โอกาสที่คนตาบอดจะได้ดูหนังจริงๆ มันน้อยมาก สำหรับคนทั่วไปการดูหนังเป็นความบันเทิงที่ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับเวลา 2 ชั่วโมง แต่หากเป็นเมื่อก่อนคนตาบอด ไม่สามารถเข้าถึงหนังได้ เพราะเขาดูไม่ได้และเข้าถึงไม่ได้ การที่มีแอพฯ ทำให้เข้า ดูหนังได้พร้อมกับคนทั่วไป และหลายคน มันคือครั้งแรกจริงๆ" ฉัตรชัย กล่าว
ฉัตรชัย บอกอีกว่า ข้อดีของแอปพลิเคชันพรรณนา นอกจากจะมอบความบันเทิงให้ผู้พิการทางสายตาแล้ว ยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยการเดินเข้าโรงภาพยนตร์พร้อมกับพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงได้เหมือนคนตาดี ซึ่งสร้างความมั่นใจอย่างหนึ่งให้กับชีวิตเขาด้วยความรู้สึกได้ ส่วนหนึ่งในสังคม
ขณะที่ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะ ผู้สนับสนุนทุนในการพัฒนาแอปพลิเคชัน พรรณา ทิ้งท้ายว่า กิจกรรมการดูภาพยนตร์ ของผู้พิการทางสายตา ถือเป็นตัวอย่างของการลดอุปสรรคของการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นสร้างการเรียนรู้ ซึ่ง สสส. สนับสนุนการเรียนให้กับผู้พิการทางสายตาอีกมากมายหลายโครงการ เช่น โครงการ The Guide light หรือตัวช่วยในการเรียนสำหรับเด็กตาบอดในมหาวิทยาลัย เพื่อจะเอื้อให้เด็กที่พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนในระดับมหาวิทยาลัยง่ายขึ้น โดยมีการอ่าน เลกเชอร์ให้ฟัง หรืออัดเสียง รวมไปถึงการส่งเสริมในรูปแบบอื่นๆ ที่พยายามสร้างเป็นนวัตกรรมเพื่อให้ผู้พิการสามารถอยู่ร่วมกับคนทั่วไป
สำหรับผู้ที่สนใจแอปพลิเคชัน "พรรณนา" สามารถดาวน์โหลด "ฟรี" ได้ที่ Google Play หรือ App Store