ความดี ความงาม ความสุข ใน“เมืองสื่อสร้างสรรค์”
เด็กไทยวันนี้ใช้เวลามากกว่า 1 ใน 3 ของชีวิต หรือ วันละ 9 ชั่วโมงเศษๆ อยู่กับโทรทัศน์ (รวมดีวีดี วีซีดี ละครประโลมโลก ซีรีย์ต่างประเทศ) โทรศัพท์มือถือ (รวมการแชทผ่านนานาแอพลิเกชั่น) และอินเทอร์เน็ต (รวมการเล่นเกมและการอยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์)
ปัญหาอยู่ที่ว่า เราต้องไม่มองว่ามันเป็นปัญหา เพราะนี่คือโลกใหม่ เทคโนโลยีเปลี่ยน ชีวิตก็เปลี่ยน แม้คนที่เป็นผู้ใหญ่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานก็เถอะ ลองว่าถ้าได้ลงนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และเข้าสู่โลกของเกมและโลกออนไลน์เมื่อไร เมื่อนั้นก็จะตระหนักได้ด้วยตนเองในทันทีว่า ทำไม “เสพ” แล้ว จึง “ติด”
คำตอบสำคัญ คือมันพาเราออกจากความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน (ที่อาจจะกำลังเหงา เศร้าลึก) เพราะมันท้าทายให้เราต้องเอาชนะให้ได้แม้สักครั้ง เพราะมันชวนให้หลงใหลอยู่ในสีสันและ “ความจริงในโลกลวง” แบบที่ไม่ต้องใช้จินตนาการใดๆ และที่สำคัญคือ ความรู้สึกของการได้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ซึ่งหมายถึง “อำนาจ”
แต่ผู้ใหญ่หรือเด็ก เฉพาะผู้ที่ “รู้คิด” ใช้สติและปัญญาเป็นเท่านั้น จึงจะถอนตัวออกจากการเสพติดได้อย่างไม่หลงทาง และ“เลือกรับ” “เลือกใช้”สื่อใหม่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควร
ทำไมต้องสื่อสร้างสรรค์ เพราะการบริโภคสื่อที่ไม่เหมาะสม เป็น“ต้นน้ำ” ของการแสดงออกหรือการมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหา ความเดือดร้อนและความทุกข์ให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน สังคม เพราะ อย่างไรเสียเด็กและเยาวชนของเราต้องอยู่กับสื่อในลักษณะเช่นนี้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง ดังนั้นพวกเขาก็ควรจะได้อยู่กับสื่อที่หล่อหลอมความเป็นมนุษย์และสื่อที่สร้างสรรค์ความดี ความงาม ความจริงและความสุข ในลักษณะที่เป็นแก่นแท้ ไม่ใช่เปลือกหรือกระพี้
สื่อสร้างสรรค์ต้องมุ่งพัฒนาสุขภาวะในด้านจิตและปัญญา จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้พวกเขามีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ในขณะเดียวกันก็ต้องโน้มนำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตสื่อและการนำใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกชุมชนมีพื้นที่หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย
เด็กๆ มีพลังในตัวเองมากมาย แต่ผลการศึกษาพบว่า ในชุมชนไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา อยากแสดงออก แต่ไม่มีพื้นที่ให้ลั้นลา อยากทำงานจิตอาสา แต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน
เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนจอมทอง ซึ่งเข้าไปทำงานกับเด็กและเยาวชนละแวกวัดไทร เขตจอมทอง รับสมัครเด็กกลุ่มหนึ่งมาเรียนดนตรีประเภท percussion จากถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ กลุ่มหนึ่งไปเรียนละครกับกลุ่มละครหน้ากากเปลือย และอีกกลุ่มหนึ่งไปเรียนมายากลกับสุดยอดมายากลเมืองไทย ฟิลิป ไพบูลย์พันธ์
สุดแสบและสุดยอด เด็กที่มาสมัครเรียนมายากล มีทั้งหมด 13 คน แต่เหลือเพียง 3 คนที่เดินทางมาถึงฝั่ง ส่วน 10 คนแรกนั้นหายตัวไปพร้อมกับเครื่องมือและอุปกรณ์ของอาจารย์ฟิลิป ถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่า กิจกรรมแบบนี้ไม่คุ้มค่า ทำแล้วได้อะไร แต่ถ้าจะมองในมุมกลับกัน มันอาจเป็นการดีกว่าที่ทำให้ได้เด็กที่มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกตั้ง 3 คน และต่อไปอีก 10 คนก็อาจจะสำนึกได้ โมเดลนี้อาจมีชื่อเรียกว่า “สร้าง 3 กระทบ 10”
จากการที่ผู้ใหญ่ในชุมชนวัดไทรเปิดเวทีให้เด็กๆ และเยาวชนได้มีพื้นที่ในการพูดและการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ละคร หรือมายากล นี้ ทำให้เรารับรู้ได้ด้วยหัวใจและความรู้สึกว่า พวกเขาอยากแสดงออก อยากรวมกลุ่มกัน อยากให้ผู้ใหญ่มองอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ จับผิด เวทีในวันนั้นจึงเป็นเสมือนการปรับแต่งความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชน
แล้วทำไมต้องเมืองสื่อสร้างสรรค์ เพราะเมืองสะท้อนบริบทที่เป็นอัตลักษณ์ทั้งในแง่ของศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ภาษาและวัฒนธรรม และเพราะเมืองเป็นชุมชนที่จัดการตัวเองได้ ถ้าคนในชุมชนมีความเป็น “พลเมือง”
เมืองสื่อสร้างสรรค์ คือ“เมืองต้นแบบ” ที่คนทุกเพศวัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีพื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมสร้างสรรค์ และแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการผลิตสื่อและการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ครอบครัว ชุมชนและสังคม
ตัวอย่างที่น่าสนใจตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ ละครของกลุ่มเด็กรักป่า ที่จังหวัดสุรินทร์ พลังของเด็กสะท้อนเรื่องราวของชุมชน พลังของเด็กทำให้ผู้ใหญ่สะเทือนและต้องกลับมาขบคิดปัญหาและ แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ถ้าอยากเห็นพลังของเด็กที่เปลี่ยนโลก เราก็ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนตัวเองด้วยการทำใจให้ เปิดกว้างและสร้างบริบทของชุมชนให้เป็นเมืองสื่อสร้างสรรค์
เมืองสื่อสร้างสรรค์ เป็นอีกบทบาทหนึ่งของการทำงานเชิงรุกของกลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์สุขภาวะ สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ได้บูรณาการงานของแผนงาน 3 แผนเข้าด้วยกัน คือ แผนงานสร้างสุขภาวะเยาวชน, แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยร่วมกันทำงานในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน, สุรินทร์ และเพชรบุรี โดยอาศัย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, พื้นที่สร้างสรรค์ และแบบแผนพฤติกรรมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ในครอบครัว สถานศึกษาและชุมชน
ปัญหาต่อมาอยู่ที่ว่า แล้วเราจะวัดความเป็นเมืองสื่อสร้างสรรค์ได้อย่างไร หรือจะมีอะไรเป็นเครื่องบ่งบอก ในเรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไปนะคะ
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย เกศินี จุฑาวิจิตร