ความดันต่ำ

ที่มา : มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย  สสม.


ความดันต่ำ thaihealth


แฟ้มภาพ


ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน (Sphygmomanometer) วัดที่แขน และมีค่าที่วัดได้ 2 ค่า คือค่าความดันโลหิตตัวบน (ตัวเลขค่ามาก) หรือความดันซิสโตลิก (Systolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งอาจสูงตามอายุ ความดันช่วงบนในคน ๆ เดียวกัน อาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามท่าของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และปริมาณของการออกกำลัง ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (ตัวเลขค่าน้อย) หรือความดันไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) หมายถึงแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว


ปัจจุบันความดันโลหิตที่เรียกว่า "เหมาะสม" ในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้น ๆ ว่า 120/80 ความดันโลหิตที่ "อยู่ในเกณฑ์ปกติ" คือ 120-129/80-84 มม.ปรอท


ความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเรียกว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงได้นั้น แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และที่สำคัญเทคนิคการวัดต้องถูกต้องด้วย ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท


การวัดความดันโลหิต ควรวัดในท่านั่ง ผ่อนคลายตามสบาย วางแขนลงบนโต๊ะที่จะทำการวัด โดยจัดให้ระดับที่วางแขนนั้นอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ ควรจะทำการวัดหลังจากที่นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที ไม่วัดหลังจากดื่มกาแฟ หรือ สูบบุหรี่ ขนาดของผ้าพันแขนก็ต้องเหมาะสมกับแขนผู้ถูกวัดด้วย


โรคความดันโลหิตต่ำเป็นอย่างไร ความจริงแล้วไม่มี "โรคความดันโลหิตต่ำ" มีแต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายขาดสารน้ำ เช่น ท้องเสีย อาเจียน เสียเลือด อากาศร้อนจัด หรือจากยาบางชนิด ความดันที่วัดได้ 90/60 มม.ปรอท ไม่ได้หมายความว่าเป็นความดันโลหิตที่ต่ำกว่าปกติ คนจำนวนมากมีความดันโลหิตขนาดนี้โดยไม่มีอาการผิดปกติ อาการหน้ามืด เวียนศีรษะบ่อย ๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นจาก "ความดันต่ำ" นั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ มักจะเกิดจากการขาดการออกกำลังกายมากกว่าที่จะเกิดจากภาวะความดันโลหิตต่ำ การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ ต้องรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่การดื่มเบียร์อย่างที่เข้าใจกัน


ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) คือภาวะที่ความดันโลหิต (เลือด) ซิสโตลิก (Systolic blood pressure) ต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) ต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งความดันโลหิตต่ำอาจต่ำเพียงความดันซิสโตลิก หรือ ไดแอสโตลิกตัวใดตัวหนึ่ง หรือต่ำทั้งสองตัวก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์ไม่จัดความดันโลหิตต่ำเป็นโรค แต่จัดเป็นภาวะ


ภาวะความดันโลหิตต่ำ พบเกิดได้ทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน และพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ


ความดันโลหิตต่ำมีทั้งชนิดที่ต้องการการรักษาและไม่ต้องการการรักษา ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้ยาบางอย่าง แพทย์อาจจะแนะนำให้หยุดยาหรือลดปริมาณยาลง


สำหรับอาการความดันโลหิตต่ำที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะและเป็นลม หากเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่อาจจะเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรงหากเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะมีปัญหาเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่ทำให้การรักษาระดับความดันให้คงที่เป็นเรื่องยาก


ส่วนอาการความดันตกจากการเปลี่ยนท่าร่าง (orthostatic hypotension) ซึ่งทำให้เกิดอาการหน้ามืดหากมีการเปลี่ยนจากท่านั่งหรือนอนไปสู่ท่ายืนเร็วๆ ก็อาจจะต้องรักษาด้วยการใช้ยา แต่บางครั้งการบำบัดโดยไม่ใช้ยาก็อาจจะได้ผลดี โดยเฉพาะการพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ทำให้อาการแย่ลง เช่น การลุกขึ้นยืนเร็วๆ ภาวะขาดน้ำ การอาบน้ำที่อุ่นจัด หรือการนอนนานๆ รวมถึงการพยายามป้องกันไม่ให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การยกศีรษะสูงในขณะนอน รับประทานเกลือให้มากขึ้น หรือการใส่ถุงน่องที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น


แต่ถ้าเป็นความดันโลหิตต่ำจากโรคแอดดิสันหรือหัวใจล้มเหลว จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาที่เฉพาะเจาะจง


สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ


– สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะความดันโลหิตต่ำ คือ ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโปรตีน วิตามินซี วิตามินบี ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรง และคลายตัวมากเกินไป


– การสูญเสียโลหิต ทั้งแบบกะทันหัน เช่นอุบัติเหตุ หรือการสูญเสียโลหิตแบบเรื้อรัง เช่น บาดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้หรือที่ไต


– การสูญเสียน้ำ เช่น เหงื่อ ท้องเสีย


– การติดเชื้อรุนแรง


– โรคหัวใจ


– การตั้งครรภ์


– ภาวะซึมเศร้า


การดูแลร่างกายหากความดันโลหิตต่ำ


1. พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเหน็ดเหนื่อย การนอนหลับไม่เพียงพอต่างก็ยิ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการตรากตรำทำงานเกินควร หลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนหลับไม่ควรนอนหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป


2. หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ หรือการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเกินไป


3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุล หลอดเลือดหัวใจแข็งแรง และช่วยรักษาความดันโลหิตต่ำให้ดีขึ้น


4. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะหากผู้ที่มีแนวโน้มเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตยิ่งต่ำลงไปอีก


5. ใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยหากต้องไปพบแพทย์เนื่องจากอาการเจ็บป่วยใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าว่าตนมีอาการความดันโลหิตต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงไปอีก

Shares:
QR Code :
QR Code