ควันบุหรี่มือสองบั่นทอนสุขภาพ ‘แม่-ลูก’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สิงหาคม..เดือนแห่งการระลึกถึง "แม่" เนื่องด้วยวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันแม่แห่งชาติ" หน่วยงานองค์กรต่างๆ มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ว่า กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมา ผู้เป็นแม่มีบทบาทสำคัญมาก ตั้งแต่อุ้มท้องนานถึง 9 เดือน ต้องฝืนความเจ็บปวดเมื่อคลอดลูก และต้องเลี้ยงดูเป็นเวลาหลายปีกระทั่งผู้เป็นลูกสามารถดูแลตนเองได้
ความเป็นแม่คนจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก โดยเฉพาะด้าน "สุขภาพ" ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ทว่า คนเป็นแม่ก็ยังมี "ความเสี่ยง" หากเป็น "คุณแม่ตั้งครรภ์" นั่นคือปัญหา "ควันบุหรี่มือสอง" ที่บั่นทอนร่างกายทั้งแม่และลูก แม้จะ ไม่ใช่เป็นผู้สูบบุหรี่แต่ก็ต้อง "รับกรรมที่ไม่ได้ก่อ" ไปด้วย ดังผลการศึกษาของ ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำรวจหญิง ตั้งครรภ์ในพื้นที่ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ จำนวน 115 คน พบว่า แม้ตัวหญิงตั้งครรภ์กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 97.4 เป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90.4 เคยได้รับควันบุหรี่มือสองในรอบ 30 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเวลาหลัง 16.30 น. เป็นต้นไป และสถานที่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง อันดับ 1 ในตลาด ร้อยละ 54.3 รองลงมา ในบ้านตนเอง ร้อยละ 48.7 และอันดับ 3 ในที่ทำงาน ร้อยละ 9.6 ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะพยายามระมัดระวัง เช่น ถอยห่างจาก ผู้สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
สอดคล้องกับข้อมูลจาก พญ.ปองทอง ปูรานิธี อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ระบุว่า ผลการตรวจปัสสาวะเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว พบว่า 57 รายหรือร้อยละ 76 ตรวจพบสารพิษจากควันบุหรี่ (โคตินิน) ในระดับซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยพบว่าเด็กที่อาศัยใน "อาคารชุด" ทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ และแฟลต มีสารพิษในปัสสาวะสูงกว่าเด็กในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ ถึง 2 เท่า
นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานแถลงข่าว "วิจัย : สูบบุหรี่ ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย" ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ว่า ควันบุหรี่เมื่อถูกหายใจเข้าสู่ปอด สารพิษในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะไหลเวียนไปยังทุกอวัยวะของร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว สารพิษซึ่งรวมสารก่อมะเร็งยังผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ได้
ขณะที่ ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิงนำตัวแทนคุณแม่ตั้งครรภ์ แสดงพลังยื่นข้อเรียกร้องให้บรรดา "พ่อบ้าน" ที่ยังสูบบุหรี่ให้ "งดสูบในบ้าน" มาช่วยกัน ทำให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อเห็นแก่ลูกน้อยที่กำลังจะออกมาดูโลกในอีกไม่ช้าให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ ลมหายใจสะอาด อีกทั้งการไม่สูบบุหรี่ในบ้านของพ่อบ้าน ยังช่วยปกป้องลูกๆ ไม่ซึมซับ เลียนแบบพฤติกรรมสูบบุหรี่ เมื่อเขาโตขึ้น
นอกเหนือจากการระลึกถึงพระคุณมารดาของตนเองแล้ว การช่วยเหลือสนับสนุนให้สตรีผู้ต้องรับหน้าที่แม่ในรุ่นต่อๆ ไป ได้ทำหน้าที่โดยไม่ถูกบั่นทอนรบกวน ก็ถือเป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทของแม่เช่นกัน เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจนเติบโตขึ้นมาด้วยสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง นั่นคือความสุขของคนเป็นแม่ด้วย ซึ่งการ "งดสูบบุหรี่ในบ้าน-งดสูบใกล้หญิงตั้งครรภ์" ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ และควรทำอย่างยิ่ง