ควรทำ ต้องทำ และ ทำก็ได้
เทคนิคจัดชีวิตพิชิตเครียด
ท่ามกลางมรสุมการเมืองและไข้หวัด 2009 หลายท่านว้าวุ่นดวงจิต คิดไม่ตกว่าจะทำสิ่งใดก่อนในชีวิต ถึงขนาดต้องเขียนพินัยกรรมไหม
เพื่ออยากให้ท่านได้พักดวงจิตบ้างจึงนึกได้ถึงสูตรจัดการชีวิตที่ใช้ได้ผลดียามที่จิตตก จิตป่วนหรือจิตรวนเรไม่รู้จะเหไปหาใคร และก็ใช้ได้ผลดีเสมอมาด้วย
สูตรนี้ถือเป็นสูตรคุณแม่หรือเรียกให้เก๋ว่า “Mother recipe” แต่ดีกว่าขนมเค้กหรือซุปใสอย่างที่ท่านเคยลองกันมาแน่นอน เพราะสูตรนี้สามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอดชีวิตจัดการให้ชีวิตดีมีสุขแบบไม่วุ่นวายได้ด้วยครับ ขอเชิญมายลกันเลยครับ
เทคนิคจัดชีวิตพิชิตเครียด
คุณแม่ผู้เป็นเจ้าของสูตรสอนผมไว้เพียงสั้นๆ ในเช้าวันหนึ่งระหว่างผมกำลังนั่งฟังตารางธุรกิจพันล้านที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นต้นว่า หยดยาเห็บให้หมา, จัดยาให้คุณพ่อและโปรยข้าวเลี้ยงนกหนูปูปลารอบบ้านรวมถึงรดน้ำให้ต้นไม้น้อยใหญ่ที่นอกชาน ขณะผมกำลังนั่งหน้าตื่นจัดเรียงลำดับของงานไม่ให้ลืมเสียก่อนเพราะงานส่งต้นฉบับก็อีกหลายอยู่นั้น คุณแม่ท่านก็ได้กรุณาแนะถึงเทคนิคจัดลำดับงานไม่ให้รู้สึกว่างานล้นมือเครียดจนเกินไป
เมื่อผมฟังแล้วในสมองกลวงๆ ก็เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาทันทีและจำมาใช้อยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ จึงนึกถึงท่านผู้อ่านที่รักที่อยู่ในสังคมซับซ้อนนี้ขึ้นมาจับใจว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านได้บ้าง ขนาดสมองลูกโป่งอย่างผมยังเข้าใจได้ก็เชื่อว่าท่านที่เป็นผู้มีสมองระดับเลิศอยู่แล้วก็ย่อมจะเข้าถึงได้ง่ายและได้ประโยชน์เต็มทีดีด้วย
ก่อนอื่นเลยนะครับขอให้ลืมคำว่า ไม่มีเวลา ไว้สักครู่ครับ เคล็ดสำคัญในการจัดชีวิตคือขอให้รู้ว่างานล้านแปดในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานไฮเทคระดับสำรวจอวกาศชายขอบเนบิวลาไปจนถึงป้าข้างบ้านปรุงหอยจี่ขายนั้นล้วนแต่อยู่ในความสำคัญ3 ระดับเท่านั้นเองครับ นั่นคือ
1) ต้องทำ 2) ควรทำ 3) ทำก็ได้
ในส่วนของ “ต้องทำ (Must do)” เป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริงคือถ้าไม่ทำอาจกลายเป็น must die ได้ เป็นต้นว่าการรักษาพยาบาลตัวเอง เรื่องสุขภาพหรือเรื่องความมั่นคงของสินทรัพย์กิจการ
ส่วนงานระดับ “ควรทำ (Should do)” ได้แก่การออกกำลังกาย การสังสรรค์เข้าสังคม การทำบุญกุศลต่อเพื่อนมนุษย์และการพยายามวางแผนชีวิตล่วงหน้าเอาไว้แต่ไม่ต้องเคร่งมากจนเกินไป
สำหรับประการสุดท้ายคือ “ทำก็ได้ (Good to do)” ซึ่งมักเป็นงานที่เกิดจากความเกรงใจมากกว่า เช่น คุยโทรศัพท์กับเพื่อน ขับรถไปส่งเพื่อนที่บ้าน ไปดูหนังฟังเพลงหรือไปออกงานสังคมที่ไม่เต็มใจ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เสียเวลาอย่างเดียวหากแต่ทำให้เสียสุขภาพจิตด้วย
เพราะมันจะดึงเอาพลังชีวิตของท่านไปได้มากกว่าที่คิด คือแทนที่จะเหลือเนื้อสมองเอาไว้ทำในงานที่ “ต้องทำ” หรือ “ควรทำ” กลับต้องเจียดมาในส่วนที่ไม่จำเป็นมากเกินควรจนบางทีทำให้เสียโอกาสอันดีในชีวิตไปได้ทีเดียวครับ
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ถัดมาก็คือ งานประเภทที่ 3 อันเกิดจากความเกรงใจนี้กินเวลาชีวิตของเราไปเสียมากที่สุดเลยถึงราว 2 ใน 3 และงานอย่างนี้เองที่ทำให้วันหนึ่งเราต้องมานั่งกุมขมับย่นคิ้วว่าชีวิตนี้ทำไมยุ่งขิงหนักหนา จะอะไรกันนักกันหนามากนักจนพาลกลายเป็นคนหงุดหงิดง่ายเสียสุขภาพจิต เสียสังคมรอบตัวแล้วในที่สุดก็เปลี่ยนไปเป็นซึมเศร้าได้ นี่แหละครับผลของการไม่จัดชีวิตให้ดีก็จะทำให้เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องมาพิชิตตัวเราได้แทนอย่างไม่น่าเกิดทีเดียวครับ
ที่จริง ทุกคนบนโลกล้วนแต่มีทุกข์กันอยู่เป็นแพคเกจคู่มาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่บางท่านดูร่าเริงแถมประสบความสำเร็จอยู่เสมอเป็นเพราะว่าท่านเตรียมตัวดี ท่านเหล่านี้เป็นคนที่เตรียมชีวิตไว้อย่างรอบคอบ อันที่จริงท่านเหล่าไม่ได้มีตัวช่วยวิเศษใดต่างจากเราๆ หรอกครับ หากแต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการ “เตรียมชีวิต” และ “ความรอบคอบยิ่งยวด”
บุคคลที่ประสบความสำเร็จน่าชื่นชมทุกรายจะมีสามคำศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ไว้จัดการเรื่องราวชีวิตไม่ให้เรื่องไม่จำเป็นมาแย่งที่สิ่งที่ “ต้องทำ” หรือ “ควรทำ” ในชีวิตลงไปได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Update:10-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่