ควบคุมโรคแพร่ระบาดในเมืองกรุง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ควบคุมโรคแพร่ระบาดในเมืองกรุง thaihealth

แฟ้มภาพ


กทม.ตั้ง คกก.วิสามัญศึกษาแนวทางควบคุมและป้องกันโรคในกรุงเทพมหานคร ชี้โรคติดต่อที่ยังน่าห่วงอยู่ คือ ‘ไข้เลือดออก-ซิก้า-พิษสุนัขบ้า-ไข้หวัดใหญ่’


ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่4 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2559 โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. คณะผู้บริหารกทม. และสมาชิกสภากทม. เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ในที่ประชุม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากทม. ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคในกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยกล่าวว่า ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ มากขึ้น ซึ่งมีทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่อที่อุบัติซ้ำ โดยโรคติดต่อที่มีความน่าเป็นห่วง และมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ซิกา โรคพิษสุนัขบ้า และโรคไข้หวัดใหญ่


ซึ่งจากข้อมูลพบประชาชนป่วยเป็นโรคดังกล่าวจำนวนมาก อาทิ โรคไข้ซิกา ที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 1ก.ย.-22ต.ค.59นี้ พบมีผู้ป่วยกระจายในพื้นที่ต่างๆรวมกว่า 107 คน ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ก็พบจำนวนผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กลุ่มเทพฯชั้นใน เนื่องจากเป็นพื้นที่แออัด มีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก กทม.จึงควรปรับปรุงมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ให้สอดคล้องกับสภาพของสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด


นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ท้องถิ่นต้องจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด ซึ่งจะมีผู้ว่าฯกทม.เป็นประธาน แต่กทม.ยังไม่ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการใดๆขึ้น ทั้งที่กฎหมายได้ประกาศใช้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในพื้นที่ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นกทม.เร่งปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคติดต่อในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ด้าน นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ.2558 นั้น กทม.ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายชื่อของคณะกรรมการ เพื่อเสนอต่อผู้ว่าฯกทม.พิจารณา และหลังจากนั้น กทม.จัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังโรคติดต่อทั้ง 50 เขต เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ ในที่ประชุม มีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคในกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 80 วัน


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code