“ควนลังงา”หมู่บ้านพอเพียงกลางกลิ่นควันปืน

“ควนลังงา”หมู่บ้านพอเพียงกลางกลิ่นควันปืน 

 

            ความสำเร็จจาก โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ของหมู่บ้านควนลังงา จ.ปัตตานี ที่สามารถพลิกให้ภาวะสุขภาพของคนในชุมชนหมู่ 4 จำนวน 400 คน จาก 100 ครัวเรือนมีสุขภาพแข็งแรง มีกลุ่มออกกำลังกาย เช่น การปั่นจักรยานเสือภูเขา การเต้นแอโรบิก ได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ อีกทั้งมีแบบแผนการป้องกันและลดอัตราเสี่ยงจากภัยความไม่สงบ

 

            ด้วยความความเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกด้านสุขภาพของคนในชุมชน ในปี 2553 ทาง สสส.จึงสนับสนุนต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้น ด้วยการขยายกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดกับ 6 หมู่บ้าน หรือครอบคลุมทั้งตำบลทรายขาว ซึ่งมีประชาการกว่า 4,000 คน ด้วยแนวทางการสร้าง “บ้านน่าอยู่” เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านหมู่ 4 บ้านควนลังงา

 

“ควนลังงา”หมู่บ้านพอเพียงกลางกลิ่นควันปืน

 

            ชุติมา เศียรอินทร์ ประธานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนบ้านควนลังงา ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ย้อนรอยความสำเร็จเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาให้ฟังว่า โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากแผนเปิดรับทั่วไป ของ สสส. มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในพื้นที่หมู่ 4 บ้านควนลังงา ด้วยกิจกรรมหลัก 3 ประการ คือ การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง การผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในครัวเรือน และอบรมให้ความรู้โดยเจ้าหน้าที่รัฐในการลดอัตราเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ความไม่สงบ

 

            ชุติมา กล่าวต่อว่า กิจกรรมหลักทั้งสาม ที่ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น มีที่มาที่ไปจากการกระตุ้นให้ชาวบ้าน 100 ครัวเรือน หรือกว่า 400 คน ในชุมชนบ้านควรลังงา รู้จักการรักษาความสะอาด และลดแหล่งแพร่เชื้อโรคด้วยการแยกประเภทขยะ เพราะที่ผ่านมา สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนถูกทิ้งอย่างสะเปะสะปะ จนส่งผลต่อบรรยากาศและกระทบต่อสุขภาพในท้องถิ่นอย่างมาก ดังนั้นการให้ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องนี้ สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และสุขภาวะอนามัยของคนในท้องถิ่นหมู่ 4 แห่งนี้ได้ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

           

ส่วนการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่รู้จักผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่จะยึดการทำสวนผลไม้ และยางพารา ดังนั้นการนำผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาถ่ายทอดความรู้ และกรรมวิธีผลิตปุ๋ย เพื่อใช้เอง จึงช่วยให้เกิดการพึ่งตนเอง และลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรแต่ละรายในชุมชนอีกด้วย

 

            “จากการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชุมชน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในช่วง 2 ที่ผ่านมา คือชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเอง รู้จักการบริโภคที่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงเกิดการรวมกลุ่มออกกำลังกายในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการปั่นจักรยานรอบชุมชน จนเกิดการก่อตั้งชมรมจักรยานเสือภูเขาเป็นครั้งแรก และที่สำคัญยังขยายไปสู่หมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้หันเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้เป็นจำนวนมาก” ชุติมา บอกถึงผลแห่งความเปลี่ยนแปลง

 

            ไม่เพียงเท่านั้น โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงปี 3 ในชุมชนแห่งนี้ ยังก่อให้เกิดการรวมพลังของคนในชุมชน เพื่อสร้างอาชีพเสริม โดยร่วมคิด ร่วมทำ ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ประเภทเครื่องอุปโภคบริโภค ยาสมุนไพร ซึ่งวัตถุดิบสามารถหาได้ในท้องถิ่น เพื่อช่วยเพิ่มรายรับให้กับครัวเรือน และเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน

 

            “ตำบลแห่งนี้มีอัตราส่วนของของประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น การกำหนดกิจกรรมทุกอย่าง จะต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน และไม่ขัดต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของคนสองศาสนิก เพื่อให้เกิดเป้าหมายทางด้านสุขภาพที่ยั่งยืนแก่ทุกคน” ชุติมา กล่าวและว่า เธอยังดึงผู้บริหารท้องถิ่นจากองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าร่วมเป็นแรงขับเคลื่อน ด้วยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้แนวทางการวางรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืนของชุมชนแห่งนี้ ได้เข้าไปอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาของ อบต. ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ท้องถิ่นทั้งระบบ

           

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายเยาวชนรักสุขภาพ ด้วยการนำนักเรียนจาก 6 หมู่บ้าน มาเข้าค่ายร่วมกันเพื่ออบรมและเรียนรู้ในกิจกรรมด้านสุขภาพ อาทิ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อหลอมรวมความสัมพันธ์ถือเป็นการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน โดยให้คนรุ่นใหม่เป็นพลังกระตุ้นให้ชาวบ้านและญาติพี่น้องในพื้นที่ของตัวเอง เกิดความเปลี่ยนแปลงความคิด และเกิดการปฏิบัติในทิศทางบวก ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีการเปิดโอกาสให้เยาวชนเหล่านี้ นำข้อมูลของหมู่บ้านตัวเองมาประมวลผลร่วมกัน

 

            ชุติมา คาดหวังว่า การดำเนินการโครงการในปีที่ 3 นอกจากคนในชุมชนจะยึดและปฏิบัติตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะช่วยสร้างและขยายเครือข่ายสุขภาพในการดูแลตนเองและครอบครัว สมาชิกมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และมีสุขภาวะที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

update : 20-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ