คลินิกจิตสังคมระบบศาลยุติธรรม
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงสงสัยว่า คลินิกจิตสังคมจะเกี่ยวกับระบบงานศาลยุติธรรมอย่างไร แต่ในมุมมองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญายุคใหม่ กลับเห็นว่า จิตสังคมมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก
เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและจำเลยเป็นสำคัญ แต่เราลืมไปว่า ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานอกจากเผชิญปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ สุขภาพ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมนานัปการ ปัญหาเหล่านี้นับว่า หนักหนาสาหัส อาจเป็นช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ โดยเฉพาะคนเราเมื่อเริ่มตกเป็นผู้ต้องหา ดังคำกล่าวที่ว่า "ใครไม่โดนไม่รู้" เรียกว่า เป็นปัญหาซับซ้อนหลายด้าน กลับไม่มีหน่วยงานใด ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนให้ความสำคัญ ปัญหาดังกล่าวจะได้รับดูแลก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงมีหน่วยงานเข้าไป ดูแล เช่น ราชทัณฑ์หรือคุมประพฤติ ซึ่งก็ใช้เวลานานนับตั้งแต่ วันตกเป็นผู้ต้องหาจนถูกฟ้องและศาลมีคำพิพากษา บางกรณีอาจใช้เวลาหลายเดือน
จึงมีคำถามว่าแล้วทำไม ไม่มีหน่วยงานใดจัดบริการให้ คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา คงเป็นคำถามคาใจ หลายคน สังคมให้ความสำคัญเฉพาะด้านสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับการประกันตัวและการต่อสู้คดี ซึ่งมีทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนให้ความช่วยเหลือ เช่น ทนายความ กระทรวงยุติธรรม และศาลในกรณีตั้งทนายขอแรงให้กระบวนยุติธรรมควรให้ความสำคัญกับปัญหาด้านจิตสังคมของผู้ต้องหาในระดับต้นๆ ไม่ควรเน้นเฉพาะการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาเพียงด้านเดียว จึงมีการนำวิธีการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมมาทดลองใช้ที่ศาลอาญาธนบุรี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยจัดในรูปคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม แต่จำกัดด้วยงบประมาณ ไม่สามารถจัดหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แก่ผู้ต้องหาได้ หากแต่อาศัยจิตอาสาที่ผ่านการอบรมการให้คำปรึกษา เพื่อสร้างแรงจูงใจ มาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหาที่ได้รับการ ประกันตัวหรือไม่ได้รับการประกันตัว โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็ก ให้สามารถปรับตัวและอยู่ทัณฑสถานได้
จิตอาสาเหล่านี้จะให้คำปรึกษาแนะนำด้านต่างๆ เกี่ยวกับอารมณ์จิตใจ ความเป็นอยู่ การงานอาชีพ ตลอดจนความประพฤติและครอบครัว โดยครอบครัวจะเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุย ลักษณะการให้คำปรึกษาเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นมิตร โดยไม่ได้รับ ค่าตอบแทนใดๆ ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยคลายความกังวลเกี่ยวกับ คดีความ มีกำลังใจฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่เผชิญอยู่ไปได้ด้วยดี ปรากฏว่าผู้ต้องหาที่ผ่านคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมจำนวนมาก สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา นับเป็นวิธีเข้าถึงรากเหง้าปัญหาแท้จริง เป็นการแก้ปัญหาจากภายในจิตใจต่างจากระบบที่เน้นด้านกายภาพ ใช้กฎเกณฑ์กดทับพฤติกรรมไว้เพียงชั่วคราว รอเวลาที่จะแสดงออกเมื่อปัจจัยภายนอกอำนวยหรือมีสิ่งกระตุ้นการก่ออาชญากรรมก็จะหวนกลับมาอีก
นอกจากนี้การให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ยังลดการหนีประกัน เพราะผู้ต้องหาคลายความกังวล สามารถเผชิญปัญหาอย่างมีสติ ด้วยเหตุนี้การเรียกหลักประกันก็ควรลดลงเพราะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ ผู้ต้องหาจะหลบหนี ทั้งปรากฏจากสถิติผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาล สั่งเข้ารับคำปรึกษายังคลินิกจิตสังคมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน พบว่า หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า การให้บริการคำปรึกษาด้านจิตสังคมมีการขยายไป หลายศาล เช่น ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และ ศาลจังหวัดตลิ่งชัน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส.และ สสส.ให้การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวตลอดมา ส่วนในศาลเยาวชนและครอบครัวก็มีบริการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมทุกศาลทั่วประเทศ
บทความดังกล่าวข้างต้นเป็นของท่านวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดตลิ่งชัน อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาล อาญาธนบุรี นับเป็นบทบาทใหม่ของกระบวนการยุติธรรมที่จะแก้ปัญหา ผู้ต้องคดีอาญาเพราะปัญหาดังกล่าวเกิดกับใคร จะเกิดความเดือดร้อน สับสน โดยเฉพาะพ่อแม่ของผู้ต้องคดี คงไม่มีใครต้องการให้ลูกต้อง เข้าไปอยู่ในการดูแลของกรมราชฑัณฑ์หรือกรมคุมประพฤติ แต่พ่อแม่ ทุกคนต้องการให้ลูกได้รับอิสรภาพ หวนกลับมาเป็นคนในครอบครัว ให้พ่อแม่เลี้ยงดูเพิ่มความเอาใจใส่ลูกมากขึ้น อันเป็นวิธีการหรือหลักยึดเหนี่ยวไม่ให้เขากลับไปเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญาหรือต้องไปอยู่ในเรือนจำ
หลักการของจิตสังคมในระบบศาลเริ่มตั้งแต่ผู้ต้องหากระทำความผิดคดีอาญา เน้นคดียาเสพติดเป็นสำคัญ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ เข้าอยู่ในระบบให้คำปรึกษาในชั้นฝากขังของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ผู้ต้องหาเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนนิสัยที่เป็นปัญหา ฯลฯ และเมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล อาจจะไม่ต้องรับโทษถึงจำคุกเลย ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมจะติดตามนำมาเสนอในคอลัมน์นี้ในโอกาสต่อไป