ครู-ศิษย์ ทางรอดการศึกษาไทยสู่ศตวรรษที่ 21
เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาคนแล้วนั้น หลักการ "พัฒนาคนตลอดชีวิต" ถือเป็นกุญแจสำหรับการพัฒนาสู่การดำรงชีวิตที่แท้จริงในสังคมไทยปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากฐานการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพ ร่วมกับการสนับสนุนการเรียนรู้ระดับโรงเรียนและห้องเรียน เพื่อสร้างความพร้อมการเรียนรู้และทักษะที่เหมาะสมกับอนาคต
ดังนั้น การสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนในห้องเรียนเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญช่วยสร้างสรรค์มุมมองความคิดแก่เด็กวัยเรียน คือ ครู ผู้ให้ทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ มุมมอง และถือเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังที่ต้อง เตรียมตนเองและเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 สู่การเติบโตทั้งระดับอาเซียนและระดับโลก
โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ครูแห่งศตวรรษที่ 21 เรียนรู้ไม่จบ" ภายใต้งาน สานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ว่า ความก้าวหน้าของครูในระบบการศึกษาไทย พบว่าเป็นสิ่งที่กำลังทำลายศักดิ์ศรีครู ความก้าวหน้าของครู แต่สามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความร่วมมือของทุกคน ในเชิงระบบสามารถอาศัยทั้ง ผอ.โรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และส่วนกลางที่จะทำให้ครูเติบโตก้าวหน้าได้ โดยใช้ผลงานของความเป็น "ครูเพื่อศิษย์" ครูต้องไม่ใช่แค่สอน แต่ตัวเองต้องเรียนรู้ด้วย
"ขอแนะนำกุญแจสำคัญ 3 อย่าง คือ การสอน วิจัย และการเรียนรู้ ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานสู่ความสำเร็จ เนื่องจากศตวรรษที่ 21 สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ทั้งลักษณะนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีการเรียนรู้ เป้าหมายของการเรียนรู้และผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงเผชิญในความไม่ชัดเจนนี้ถือเป็นความท้าทายและเป็นพลังที่สำคัญในการสอนให้ครู เพราะการศึกษาจะไม่ใช่เพียงการทำหน้าที่เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องทำหน้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านการสร้างคนแห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า Transformative Learning เป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้ปฏิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากในตัวคนนั้นๆ และสร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สู่ภาวะผู้นำโดยไม่รู้ตัว" ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว
การเรียนรู้ไม่ใช่หมายถึงการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม กล่าวว่า เป็นการเรียนรู้ของครู เป็นการเรียนรู้ของทุกคนเช่นกัน เพราะทุกคนคือผู้เรียนและเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ (Change Agent) การเรียนที่สนุกต้องคืนความสุขต่อผู้เรียนและคืนความสุขต่อครูผู้สอนด้วย เรียกได้ว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน ต้องทำให้ห้องเรียนเป็นสวรรค์ เป้าหมายการศึกษาคือ ทำให้ครูได้มีชีวิตที่ดีงาม ประเทืองปัญญา ก้าวหน้า ต้องเป็นชีวิตที่ตั้งโจทย์เก่งในทุกเรื่อง ทุกขณะ และสอดคล้องกับบริบทของตัวเองและลูกศิษย์ในห้องเรียนที่มากกว่าการอ่านและค้นคว้าทฤษฎี ที่สำคัญครูต้องเชื่อในโอกาสปรับปรุงและการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวด้วยว่า ครูควรเลิกถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปให้นักเรียนท่องจำ แต่หาทางออกแบบให้เด็กนักเรียนได้ลงมือทำ สร้างกิจกรรมเรียนรู้ โดยครูมีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ให้กำลังใจ โดยตั้งคำถาม และต้องร่วมเรียนรู้กับเพื่อนครู หรือที่เรียกว่า PLC-Professional Learning Community เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำเป็นต้องทำตลอดชีวิต โดยเป้าหมายสำคัญ สร้างฐานการทำงานที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวต่อไป เคล็ดลับของการเรียนรู้ของครู คือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นตัวหลัก หัวใจการเรียนรู้ทั้งของครูและของลูกศิษย์ เน้นว่าภารกิจของครูต้องฝึกฝนไม่มีที่สิ้นสุด.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์