ครูเจ้าฟ้าประเทศอินโดนีเซีย

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเดลินิวส์


ครูเจ้าฟ้าประเทศอินโดนีเซีย thaihealth


ครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีจากอินโดนีเซีย เจ้าของไอเดียสุดล้ำสอนวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านสมาร์ทโฟน


เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูไทยในการประชุมวิชาการนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 26-28 เม.ย.นี้ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร


ครูเฮอร์วิน ฮามิด ในวัย 35 ปี เป็นครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียน Junior High School Kendari จังหวัดสุราเวสี ประเทศอินโดนีเซีย หากดูผิวเผินเหมือนเป็นครูสอนวิชาเกี่ยวกับไอทีหรือไอซีที แต่จริงแล้วเขาคือครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศอินโดนีเซีย ประจำปี 2558


เมื่อเร็วๆนี้ คณะตัวแทนมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำโดย ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization) หรือเรียกโดยย่อว่า ซีมีโอ (SEAMEO) ได้มีโอกาสเดินทางไปอินโดนีเซีย เพื่อพบปะพูดคุยกับครูเฮอร์วิน จนทราบว่าเขามีความสามารถพิเศษทางไอทีที่หาตัวจับยาก


ครูเจ้าฟ้าประเทศอินโดนีเซีย thaihealth


กระนั้นก็ตาม นอกจากการสอนด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ครูเฮอร์วิน ยังมีผลงานที่โดดเด่นคือการพัฒนาแอปพลิเคชันสื่อการสอนในโทรศัพท์มือถือ แบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone ) และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ จนได้รับรางวัลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับภูมิภาค


ครูเฮอร์วินอยู่ที่สุราเวสี ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเกาะ ระบบการขนส่งมีความสะดวกสบายทันสมัย เนื่องจากมีสนามบินขนาดเล็ก ถ้าหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงประมาณจังหวัดมุกดาหารของประเทศไทย


ผศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เล่าว่า โรงเรียน Junior High School Kendari มีนักเรียน 480 คน มี 20 ห้องเรียน มีครูประมาณ 20-30 คน เฉลี่ยครู 1 คน ต่อ นักเรียน 20 คน ซึ่งก่อนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา ครูเฮอร์วินได้มีการสำรวจก่อนว่า ครอบครัวของนักเรียนมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนมากน้อยขนาดไหน แล้วจึงนำผลสำรวจมาวิเคราะห์จนตกผลึกพบว่า ประมาณ ร้อยละ 40 ครอบครัวของนักเรียนมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน จึงเกิดไอเดียบรรเจิดที่จะจัดการเรียนการสอนผ่านสมาร์ทโฟน เป็นการนำความทันสมัยไปสู่พื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัด


ก่อนหน้านี้ครูเฮอร์วินได้สรรหาซอฟแวร์มาช่วยสอนหนังสือในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเป็นการศึกษาผ่านจอคอมพิวเตอร์แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมาก เพราะเด็กเหล่านี้ขาดแคลนและไม่มีอุปกรณ์การทดลองจริงในห้องแล็บสมัยใหม่มาใช้ในภาคปฏิบัติเสมือนจริง นั่นอาจส่งผลเสียให้นักเรียนขาดจิตนาการทางการศึกษา โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ ที่มักเกี่ยวข้องกับการทดลอง ถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริงการเรียนคงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร


ครูเจ้าฟ้าประเทศอินโดนีเซีย thaihealth


เมื่อเกิดภาวะข้อจำกัดทางอุปกรณ์ จึงทำให้ครูเฮอร์วิน พยายามคิดค้นพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน ที่จะช่วยให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจและเสมือนได้ทดลองทางวิทยาศาสตร์จริงๆ จึงเป็นที่มาของไอเดียพัฒนาระบบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ นักเรียนสามารถเรียนที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสของจริง แต่สามารถเรียนรู้ได้เสมือนมีการปฏิบัติจริง


วันนี้คุณครูเฮอร์วิน ใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในการวัดขนาดวัตถุ เปรียบเทียบกับเครื่องมือวัดขนาดทั่วไป และเรียนรู้การนำมาเปรียบวัดและประยุกต์ใช้ร่วมกัน ซึ่งสร้างความสนุกสนานเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากนักเรียนทุกคนได้อย่างภาคภูมิใจ


ครูเฮอร์วิน แห่งโรงเรียน Junior High School Kendari ได้รับการชื่นชมและยกย่องให้เป็นต้นแบบครูมืออาชีพในยุคทองของการศึกษาประเทศอินโดนีเซีย เพราะมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองและลูกศิษย์ รวมทั้งยังถ่ายทอดความรู้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการสอนแก่เพื่อนครูอยู่เสมอ และยังเคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของเขาให้แก่ครูในประเทศไทยได้รับฟัง เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาอีกด้วย


จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เพราะด้วยแรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันที่อยากเป็นครูสอนหนังสือตั้งแต่เด็ก ทำให้ครูเฮอร์วิน รักในวิชาชีพนี้ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองและวงการศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย เสียสละเวลาส่วนตัวอุทิศให้แก่การศึกษาอย่างเต็มอกเต็มใจ ไร้ข้อแม้ในการทำงาน


และอีกหนึ่งข้อความดีๆ ในวันครูโลก ปี 2559 ครูเฮอร์วิน ได้กล่าวไว้ว่า "ครูเปรียบดั่งจิตรกรผู้แต่งแต้มอนาคต เราได้รับความไว้วางใจในการสร้างโลกด้วยสองมือของเรา"


ครูเฮอร์วิน ฮามิด จะเป็นหนึ่งในครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จาก 11 ประเทศที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อ “นวัตกรรมการเรียนรู้ STEM Education” ในการประชุมวิชาการนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 (1st Princess Maha Chakri Award Forum) ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2560 นี้ ณ โรงแรมเดอะสุโกศล พญาไท กรุงเทพมหานคร รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.PMCA.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code