“ครูเจียมใจ” ครูสอนดีเน้นฝึกทักษะ – คิดวิเคราะห์

“เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องอยู่ในจิตสำนึก ครูอยากเห็นลูกศิษย์ทุกคนมีจิตสำนึก ถ้าเห็นเศษขยะตกอยู่ก็ต้องหยิบเก็บขึ้นมาเหมือนอัตโนมัติ หากเด็ก ๆ มีจิตสำนึกได้เช่นนี้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนของประเทศไทยหรือส่วนไหนของโลกก็จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยดูแลรักษาโลกใบนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นการที่จะปลูกฝัง จิตสำนึกเรื่องเหล่านี้ได้ ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด”

ครูเจียมใจ รุ่งเรืองวงศ์ บอกเล่าถึงเป้าหมายของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ โดยใช้บทปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมศึกษาและการทำโครงงาน ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ครูเจียมใจพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันครูเจียมใจ ปฏิบัติหน้าที่สอน อยู่ที่โรงเรียนบ้านโนนสำราญ-ยางเรียน อ.เซกา จ.บึงกาฬ และเป็นครูผู้ได้รับทุนครูสอนดีของจังหวัดบึงกาฬ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ในการสอนให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์นั้น ครูเจียมใจ จะฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดแก้ปัญหาผ่านการทำโครงงาน โดย เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวคือการดูแลสภาพแวดล้อมรอบโรงเรียนและชุมชน เด็กนักเรียนจึง ต้องคิดทำโครงการที่เน้นอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดกระบวนการเรียนรู้เป็น 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. สำรวจสภาพปัญหา 2. การให้ความรู้ฐาน ด้วยการสืบค้นความรู้ จากอินเทอร์เน็ต ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น 3. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเพื่อเชื่อมโยงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 4. การเรียนรู้สถานการณ์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและอนาคต เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์และมองหาทางรอด 5. วางแผนตามทางเลือกที่กำหนด โดย ใช้การวางแผน-ลงมือปฏิบัติ-ตรวจสอบงาน และปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือระบบ pdca (plan-do-checkact) มาเป็นเครื่องมือ 6. ลงมือปฏิบัติตาม แผนงาน โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และ 7. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่สู่สาธารณชน

จากกระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดจึงเป็นที่มาของโครงงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายจากการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมตัวน้อย ๆ อาทิ โครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาตลิ่งพังทลายในห้วยบังบาตร ซึ่งเป็นต้นน้ำที่จะไหลไปสู่แม่น้ำโขง หรือโครงการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทิ้งขยะ เป็นที่เป็นทางมากขึ้น เป็นต้น

“กระบวนการนี้ครูจะไม่วางกรอบอะไรไว้ให้เลย แต่จะให้เด็กได้คิดเอง ทำเอง เมื่อเด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นเหตุ ของปัญหา และคิดหาวิธีแก้ปัญหาได้เอง เขาก็จะเกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่นและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านของเขามีอยู่ ซึ่งจากการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ มาสองปี ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนได้อย่างชัดเจน โดยเด็กมีพัฒนา การในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก ซึ่งเด็กรุ่นแรกที่เรียนด้วยระบบ นี้ แม้จบการศึกษาไปแล้ว ก็ยังวนเวียนกลับมาทำกิจกรรมกับรุ่นน้องอย่างสม่ำเสมอ เป็นเพราะเขารู้สึกรักและผูกพันกับท้องถิ่นอย่างมาก” ครูเจียมใจ ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ ที่น่าทึ่งจากการสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ได้เอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยพลพิบูล เพ็งแจ่ม

Shares:
QR Code :
QR Code