‘ครูสอนคิด’ คิดได้-วิเคราะห์เป็น

         ครูสอนคิด กระตุ้นให้ครูพร้อมสอน หาเทคนิคเพื่อให้เด็กเรียนรู้ โดยการประยุกต์ทักษะการตั้งถามคำถาม และร่วมกันอภิปราย


'ครูสอนคิด' คิดได้-วิเคราะห์เป็น thaihealth


          ในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 36 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เชิญ "ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ" มาร่วมแลกแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ในหัวข้อ "โครงการครูสอนคิด" หรือ "Socratic Teaching" ด้วยหลักการที่ครูผู้สอนจะมีหน้าที่หลักในการตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบและร่วมกันอภิปราย เพราะคำถามจะช่วยให้เกิดความสนใจใฝ่รู้จากตัวผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนเปิดกว้างทางความคิด จนสามารถตั้งข้อสงสัยหรือคำถามที่ลึกซึ้ง และสามารถที่จะประยุกต์ทักษะการถามและกระบวนการคิดกับเรื่องอื่นๆ ได้


          น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการทำงานของมูลนิธิก็คือ ทำอย่างไรให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ และทำอย่างไรให้ครูพร้อมที่จะสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง แต่ปัจจุบันเด็กไทยใช้การท่องจำ แต่การเรียนรู้ที่ดีจะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดรวมถึงในเรื่องของจิตใจด้วย จากการวิจัยพบว่ากิจกรรมใดที่ใช้การสัมผัสสูง ก็จะมีโอกาสที่จะฝังอยู่ในจิตสำนึกเรามากขึ้นเท่านั้น การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจึงจะเกิดขึ้น โดยปัจจุบันได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครูสอนคิดไปแล้วจำนวน 2 รุ่นรวม 20 คน ให้กับครูผู้สอนในสาขาวิชาต่างๆ จากโรงเรียนจิตรลดาและโรงเรียนวัดรางบัว


          "คำว่าการศึกษาจริงๆ มาจากภาษาโรมันที่แปลว่าดึงสิ่งที่ดีของมนุษย์ออกมา ในอดีตเวลาเราอยากให้เด็กคิดเป็น ก็ต้องให้ไปอยู่กับคนที่คิดเป็น ตั้งคำถามเป็น เพื่อช่วยดึงศักยภาพในตัวเราออกมา อย่างนักปราชญ์โสเครติส เมื่อ 2500 ปีที่แล้วก็เริ่มโดยการถาม ซึ่งต้องเริ่มจากการฝึกกับคนที่เขาเก่งๆ แล้วเขาตั้งคำถามให้เรา เราไม่จำเป็นต้องมีคำตอบหมด เพราะฉะนั้นครูต้องตั้งคำถามให้เป็น แนวคิด "ครูสอนคิด" จึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่เรากำลังดำเนินการศึกษาทดลองในโรงเรียนเครือข่าย สิ่งสำคัญในการอบรมก็คือครูจะต้องกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพื่อที่จะได้เห็นกระบวนการที่ทำให้เด็กฝึกคิดว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วนำประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียนของตนเอง"


          อาจารย์ณัฐพร สุวรรณประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนวัดรางบัว กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าเด็กไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออกในห้องเรียน แต่เมื่อได้เขาไปอบรมโครงการครูสอนคิด ก็นำเทคนิคการสร้างการมี


          ส่วนร่วมและการตั้งคำถามไปปรับใช้ในการสอนในห้องเรียน จึงพบว่าสิ่งที่สำคัญมากคือทำให้นักเรียนเขารู้สึกว่าเขาปลอดภัยที่เขาจะพูดในห้องเรียน ไม่ต้องกลัวว่าตอบไปแล้วเพื่อนจะล้อ หรือตอบไปแล้วครูจะตำหนิ หรือถูกมองว่าโง่ไม่เก่ง แต่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่สุด บรรยากาศในห้องจะเป็นในลักษณะของคำถามปลายเปิดเพื่อให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ให้จับกันเป็นคู่บ้าง เป็นกลุ่มย่อยๆ บ้าง หลังจากนั้นพอเราซักถามว่าหลังจากที่คุยกันแล้วเขาได้ข้อสรุปว่าอย่างไร ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมีความสนุกสนานมาก เด็กกล้าคิดและพูดคุยกับเพื่อนและครูมากขึ้น


          ดร.วิริยะ ฤๅชัยพาณิชย์ นักการศึกษาผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Eduzones.com  กล่าวว่า รูปแบบการเรียนรู้ปัจจุบันนั้นต้องตอบสนองการเรียนรู้ให้เท่าทันสภาพโลกปัจจุบันที่หลากหลาย ฉะนั้นรูปแบบการเรียนรู้แต่ละประเทศจึงไม่ควรเหมือนกัน และไม่ควรลอกเลียนแบบกัน แต่ควรปักธงของแต่ละประเทศว่า 1.ต้องการกระบวนการเรียนรู้แบบไหน 2.อยากให้เด็กเป็นคนอย่างไร และ 3.อยากให้เขาทำอะไร หากกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใดที่ตอบครบ 3 รูปแบบนี้คือสำเร็จ เพราะฉะนั้นการศึกษาไทยต้องออกแบบดีไซน์ได้ เช่น การคดโกง ที่ทำให้บ้านเราย่ำแย่ ต้องสามารถออกแบบการสอนวัดประเมินให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ ประเทศไทยจะหลุดพ้นปัญหาตรงนี้


          ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือใหญ่ของการพัฒนาประเทศ ถ้าการศึกษาดีก็จะสามารถพลิกโฉมการพัฒนาประเทศได้ โดยการปฏิรูปการศึกษาของเรา มี 5 ประเด็นที่ต้องทำคือ 1.ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา ว่าการศึกษาคืออะไร 2.ปฏิรูประบบการศึกษา จากระบบแท่งไซโล ที่ทำให้เส้นทางการศึกษาคับคั่ง มาเป็นการเรียนรู้จากการทำงานเรียนรู้จากชีวิต 3.ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ 4.ใช้ระบบการสื่อสารมาเป็นประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ และ 5.ปฏิรูประบบการบริหารจัดการศึกษา จากเดิมที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่กระทรวงศึกษา เราต้องกระจายอำนาจไปให้ชุมชน ท้องถิ่น องค์กรต่างๆ จัดการศึกษาด้วยตัวเอง


          "การเรียนรู้ที่ดีต้องยกระดับศักยภาพที่ดีของมนุษย์ ซึ่งคงไม่ใช่แค่การท่องหนังสืออยู่แค่นั้น แต่ในการปฏิบัติแปลว่าเราเคารพทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตรงนี้จะฝ่าฟันความยากต่างๆ ในการเรียนรู้ไปได้ และถ้ากระบวนการเรียนรู้ดีทั้งผู้เรียนและผู้สอนจะมีความสุข เพราะเป็นกระบวนการแห่งเหตุผล และปลดปล่อยคนไปสู่อิสรภาพ แต่การเรียนรู้ของไทยกำลังก่อความทุกข์ให้คนทั้งชาติ ซึ่งหากทำอะไรแล้วมีความทุกข์ก็จะไม่อยากทำสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้นคนไทยจึงเป็นคนที่เกลียดการศึกษา เพราะเราทำให้การศึกษาเป็นความทุกข์ ซึ่งเวทีในวันนี้ได้แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่ดีคือเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศที่แท้จริง" ศ.นพ.ประเวศ กล่าวสรุป


 


 


        ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code