“ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน “เด็กพื้นที่พิเศษ”

ที่มา : MGR Online


ภาพประกอบจากMGR Online


 “ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน


93 กิโลเมตร 5 ชั่วโมง จากตัวอำเภอแม่สะเรียง มุ่งหน้าสู่ “โรงเรียนเพียงหลวง 11” หมู่บ้านสล่าเจียงตอง ต.เสาธงหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หลายช่วงเรียกว่าไม่ใช่ถนน เพราะรถต้องวิ่งในลำธาร ข้ามลำห้วยมากกว่า 40 แห่ง ซึ่งโรงเรียนห่างไกลแห่งนี้ยังคงมี "ครู" ที่เป็น "ครูนักพัฒนา" ประจำอยู่ เพราะได้รับการให้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี


ตนเป็นครูมากว่าครึ่งชีวิต อีกเพียง 4 ปี ก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว นึกแล้วเจ็บร้าวที่หัวใจ ด้วยความเป็นห่วงเด็กที่เป็นมากกว่านักเรียน แต่พวกเขาคือลูก หลาน ดังนั้น ในฐานะครูเก่าครูแก่ จึงอยากที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถทั้งหมดที่มีให้กับครูรุ่นใหม่ โดยเฉพาะครูที่มาบรรจุใหม่ในพื้นที่ทุรกันดาร ถึงแม้จะเป็นความจริงอยู่ว่าโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวกทุกฤดูกาล แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนของประเทศไทย ครูก็ต้องทำหน้าที่ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ ความสามารถอย่างเต็มภาคภูมิของความเป็นครู และลงลึกว่าปัญหาของเด็กแต่ละคนที่มาอยู่กับเราไม่เหมือนกัน จึงอยากให้รักเด็กให้เหมือนลูกเหมือนหลานขออย่าได้คิดว่าเป็นคนอื่น ขอให้เสียสละ อุทิศตัวและเวลาด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู เพราะครูคือคนสำคัญสำหรับเด็กในการให้วิชาความรู้” ผอ.สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 11 เผยด้วยน้ำตาแห่งความห่วงใยเด็กและชาวบ้านในชุมชน


 “ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน


ผอ.สุพิทยา กล่าวว่า พื้นเพเป็นคนจังหวัดลำปาง แต่มาอยู่ที่โรงเรียนเพียงหลวง ตั้งแต่ปี 2539 กว่า 21 ปีแล้ว ก็คงจะเกษียณที่นี่ไม่ไปไหน ตอนนี้ โรงเรียนมีครู 13 คน เด็ก 138 คน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสอนุบาล-ม.3 ซึ่งปีนี้เป็นรุ่นแรกที่เด็กจบ ม.3 มีเด็ก 7 คน แต่ทุกคนมีที่เรียนต่อกันหมดแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เป็นความภาคภูมิใจของครูทุกคน ฉะนั้น สิ่งที่ครูวิตกและกังวลมากด้วยเหตุที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สังคมที่หล่อหลอมตัวของครู โดยเฉพาะครูที่บรรจุใหม่ในแต่ละยุคแต่ละช่วงพบว่าครูติดโซเชียลมาก ขณะที่สอนหนังสือเด็ก เมื่อมีสัญญาณโทรศัพท์ครูกดดูทันที ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นเมื่อเราทำหน้าที่ครูอยู่ จึงเป็นภาพที่ไม่ดีเด็กมองพฤติกรรมครูตลอดเวลา เพราะเด็กและครูอยู่ในโรงเรียนร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เด็กจะมองภาพครูเป็นต้นแบบ และซึมซับในภาพที่ไม่ดี หากเด็กทำบ้างจะมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด


คำว่าครูค้ำคออยู่ ต้องมีจิตสำนึก ที่ไหนครูขาด เราควรไปอยู่ที่นั่น จะลำบากแค่ไหน หากชาวบ้านอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ อย่าลืมว่าครูมีเงินเดือน สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่เต็มความสามารถ เป็นพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ที่สังคมคาดหวังสูงมาก ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคิดว่า ชาวบ้าน ชุมชน นักเรียน มองเราอยู่ ต้องตระหนักให้มากอย่างยิ่งด้วย ขอให้เสียสละเวลาเอาใจใส่ดูแลเกื้อหนุนจุนเจืออย่างเต็มที่ เช่น การขึ้นมาสอนเด็กวันจันทร์เช้าก็อยากให้เปลี่ยนขึ้นมาวันอาทิตย์ เพราะเราใช้ปฏิทินดอย คือสอนวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ใน 1 เดือน จะหยุดทุกวันที่ 26-3 ของทุกเดือน เพื่อให้ครูและเด็กได้มีเวลากลับไปอยู่กับครอบครัว การจะได้หยุดเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการเหมือนโรงเรียนปกติไม่ได้ ด้วยการเดินทางที่ลำบากใช้เวลานานไม่สามารถกลับไปถึงครอบครัวและมีเวลาให้ครอบครัวได้ จุดสะท้อนและตระหนักในการที่ตนอยู่โรงเรียนแห่งนี้ได้อย่างยาวนาน เพราะความใสซื่อของชุมชนและเด็ก เมื่ออยู่ที่ไหนสบายใจ ชุมชนดี ช่วยเหลือจริงใจ ไม่ใส่หน้ากาก ไม่มีใครกักขัง ทำงานได้เต็มหน้าที่เต็มความภาคภูมิ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ดังนั้น สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ การสอนให้ครูคิด ซึมซับ ให้เข้าถึงจิตวิญญาณ จิตสำนึกของความเป็นครู รู้หน้าที่รับผิดชอบ จะทำให้ครูอยากอยู่กับเด็กด้วยหัวใจ” ผอ.สุพิทยา กล่าว


 “ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน


ด้านครูยุคใหม่ไฟแรง “ครูแม็ค” นายกิตติภัทร บารมีรัตนชัย ครูผู้สอนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ชั้น ป.1-ม.3 เล่าว่า มาเป็นครูที่เพียงหลวงได้ 1 ปี 9 เดือน เมื่อครั้งถูกบรรจุใหม่ ไม่เคยรู้เลยว่าที่นี่คือประเทศไทยและไม่รู้ว่าประเทศไทยจะมี ร.ร.ที่มีเส้นทางการเดินทางที่ทุรกันดารแบบนี้ จากเด็กที่เติบโตและเรียนในเมืองมาโดยตลอด การเดินทางระยะไกลก็ว่าหนักแล้ว แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือเด็กพูดภาษากะเหรี่ยงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง การปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน สภาพความเป็นอยู่ การกิน ไม่มีไฟฟ้า พอหมดแสงอาทิตย์ก็ต้องจุดเทียนหรือตะเกียง ดังนั้น การสอนที่นี่เป็นมากกว่าครู ต้องเป็นพ่อและแม่ ทำหน้าที่ตั้งแต่เช้าจนส่งเด็กเข้านอน เมื่อเด็กเจ็บป่วย ครูก็ต้องดูแล


 “ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน


ครูแม็ค เผยต่อไปว่า เด็กที่นี่ขาดโอกาส เทคโนโลยี และขาดสื่อ การจะคาดหวังให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีเหมือนเด็กในเมืองคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ร.ร.จึงทำโครงการร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้ เพื่อสุขภาวะที่สามารถจะพัฒนาเด็กให้มีภาวะแห่งความสุขอันสมบูรณ์ใน 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคมและสติปัญญา โดยเริ่มด้านไหนก่อนก็ได้ เช่น ด้านร่างกาย ให้เด็กออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีคุณภาพ ด้านจิตใจ อารมณ์ ทำให้เด็กมีความสุข หัวเราะได้ ด้านสังคม การสร้างความรัก สามัคคีความใกล้ชิดระหว่างเพื่อน คนที่เรียนเก่งแต่ขาดน้ำใจ ก็ต้องฝึกให้มีน้ำใจมาช่วยเพื่อน เด็กที่เรียนไม่ดีก็ฝึกเรื่องความขยันก็สามารถทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ได้ ซึ่งทุกด้านจะมีส่วนส่งผลต่อการเรียนของเด็กให้ดีขึ้นได้ เราไม่ได้มองเห็นจุดเด่นของเด็ก แต่เรามองเห็นจุดที่ควรพัฒนาและให้โอกาส โดยจะให้เด็กเขียนความฝัน 20 ข้อที่จะทำในปีนี้ เด็กเขียนมามากมาย อยากเรียนต่อ อยากมีเงิน ปลูกบ้านให้พ่อแม่ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายเด็กก็สรุปความฝันตนเองว่า “แต่ก็คงเป็นได้เพียงความฝัน เพราะผมไม่มีเงิน และพ่อแม่อยากให้ผมช่วยงานที่บ้าน” ในฐานะครูเราก็ต้องเป็นครูแนะแนวที่เปิดทางให้เห็นว่าความฝันนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร


“ผมสอบบรรจุไปเป็นครู ร.ร.ขนาดใหญ่อยู่ในเมือง โดยถูกเรียกให้ไปปฏิบัติหน้าที่ทันที ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ รร.จัดกิจกรรมวันเด็ก ผมถือกล้องถ่ายรูปเด็กๆ ที่กำลังหัวเราะสนุกสนานมีความสุข รอยยิ้มของเด็กที่ผ่านเลนส์กล้องคือสิ่งที่ดึงผมไว้ ผมไม่อยากให้วันเด็กเป็นวันแห่งความเศร้า เด็กอยากอยู่กับครูที่เขารัก เราถูกเลี้ยงสุขสบายมาตั้งแต่เกิดที่บ้านมีพร้อมทุอย่าง แต่เด็กที่นี่ลูกอมเม็ดเดียว ขนม 1 ชิ้น แบ่งกันกินตั้งหลายคน หรือการที่ผมปลูกผัก 1 แปลง ไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกลงไปนั้น จะเจริญเติบโตออกดอกออกผลหรือจะตาย เช่นเดียวกันเด็กเหล่านี้ ไม่มีผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่ลูก ใช่หลาน ผมจะปล่อยปละละเลยก็ได้ แต่ด้วยคำว่าครู และจากพระราชดำรัสของพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงฝากถึงครู “ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ” ผมคือครูที่จะขอทำหน้าที่ในวิชาชีพที่ได้เลือกแล้ว” ครูแม็ค กล่าว


 “ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน


ส่วนครูเจมส์ นายสุรชัย ปิ่นตาคำ ครูอัตราจ้าง ศิษย์เก่าของ ร.ร.เพียงหลวง 11 ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะกลับมาเป็นครูที่ รร.แห่งนี้ กล่าวว่า เติบโตและอยู่ในชุมชนสล่าเจียงตองมาตั้งแต่เกิด จึงได้เล่าเรียนหนังสือที่ รร.เพียงหลวงตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล- ป.6 ขณะนั้น ยังไม่ได้เปิดขยายโอกาส เด็กนักเรียนหลายคนมีความฝันที่จะเป็นครู เพราะชีวิตมีความผูกพันกับครูตลอดเวลา จึงเห็นครูเป็นต้นแบบที่ชัดเจนที่สุดกว่าอาชีพอื่นๆ ดังนั้น การทำให้ครูมีจิตสำนึกเสียสละอุทิศเวลาให้กับการเรียนการสอน โดยการทำให้ครูอยู่กับ รร.ได้นานๆ นั้น เป็นความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในบริบทพื้นที่พิเศษ เพราะหากไม่ใช่คนในพื้นที่อย่างตนเอง ซึ่งการอยู่ตั้งแต่เกิดก็คุ้นชิน หากจะลงไปในเมืองก็อาศัยรถพ่อค้าแม่ค้าที่เอาของขึ้นมาขายทุกวันเสาร์ โดยเฉพาะครูผู้หญิงบางครั้งต้องอาศัยรถขนวัว ควาย ลงไปจะยากลำบากมากกว่าครูผู้ชายที่ยังสามารถขับรถมอเตอร์ไซต์ได้ ปัจจุบันนี้ รร.ยังมีจำนวนเด็กเข้าเรียนต่อเนื่องหากเปรียบเทียบกับบริบท รร.ในลักษณะเดียวกันถือว่ายังมีจำนวนมากอยู่


 “ครูบนดอย” อุทิศตน สร้างฝัน


นายอาคม สาริธร นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 17 ปี เปิดเผยด้วยความดีใจว่า กำลังจะจบชั้น ม.3 รุ่นแรก โดยวางแผนจะไปเรียนต่อระดับชั้น ม.4 สายวิทย์-คณิต ที่ รร.บ้านกาดวิทยาคม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีความฝันและตั้งเป้าหมายอย่างมุ่งมั่นจะเป็นตำรวจ จะได้กลับมาช่วยเหลือประชาชน คนในหมู่บ้าน ตัวผมเกิดและเติบโตที่นี่ มีพี่น้อง 7 คน เป็นคนที่ 6 พี่น้อง 4 คน เรียนที่ รร.เพียงหลวง 11 นี้ จบไปแล้ว 2 คนและก็ลงไปเรียนต่อที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ทุกคนเรียนที่ รร.แห่งนี้ด้วยความสุข ผู้อำนวยการและครูใจดี ผมได้เรียนและเป็นนักเรียนกินนอนที่ รร. หากมีโอกาสจะกลับมาช่วยเหลือ รร.อย่างแน่นอน ดังที่คุณครูทุกคนได้ให้โอกาสให้ความรู้ชี้แนะแนวทางให้กับเด็กที่มีโอกาสไม่มากนัก ได้สร้างฝันของตนเองให้เป็นจริงได้ 

Shares:
QR Code :
QR Code