ครอบครัวไม่เข้มแข็ง ระวังเด็กป่วย 3 โรค

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาครอบครัว ที่ผลพวงของปัญหาตกไปอยู่ที่ “เด็ก” ผ้าขาวที่รอการแตะแต้มจากผู้ใหญ่

คณะอนุกรรมาธิการเด็กและเยาวชน โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จึงได้จัดงานเสวนา ปัญหาเด็กเยาวชน : ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และปัญหาชาติ  ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

อมรวิชช์ นาครทรรพ์ ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เผยว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ใกล้หรือไกลเมืองส่วนมากแล้วเด็กที่เกิดปัญหาทั้งหลายมักสืบเนื่องจากปัญหาครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ นโยบายเศรษฐกิจของไทยทำลายโครงสร้างครอบครัวไปหมด พูดง่ายๆ คือเด็กเหล่านี้เป็นโรค 3 โรค คือความรักตีบตัน เนื่องจากขาดความรักจากที่บ้าน ทำให้เขาต้องไปติดหรือตามหาความรักจากที่อื่น เป็นโรคศักดิ์ศรีบกพร่อง ได้รับความกดดันจากการไม่ประสบความสำเร็จจึงต้องไปหาการยอมรับจากที่อื่นและโรคสำลักเสรีภาพ ขาดวินัยในชีวิต พร้อมนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในอนาคตเสมอ

“ข้อเสนอคืออยากให้แก้ไขปัญหาเด็กอย่างบูรณาการ ทุกกระทรวง ไม่เว้นแม้แต่เศรษฐกิจ เพราะนโยบายเศรษฐกิจหรือสภาพความเป็นอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของครอบครัวเสมอ นอกจากนี้หากต้องการจะแก้ไขจริงๆ ก็ต้องเข้าไปทำงานในเชิงพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่จากส่วนกลาง ที่ไม่เข้าใจปัญหาของแต่ละพื้นที่จริงๆ”

โดยอมรวิชช์กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือต้องช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว สร้างเครือข่ายครอบครัวในชุมชนและสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบการศึกษา ให้ทางเลือกและกระจายกิจกรรมลงไป สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กมากขึ้น รวมถึงการจัดโซนนิ่งสถานที่ที่เหมาะสมกับเด็กจริงๆ แน่นอนไม่ว่าชาติไหนก็มีอบายมุขแต่เขาบริหารจัดการได้ เราต้องมาเริ่มคิดใหม่ไม่ใช่ทุกอย่างอนุโลมได้เพราะเศรษฐกิจอย่างเดียว ขณะที่สื่อก็ควรมีสื่อที่สร้างสรรค์กว่านี้ เพราะเด็กจำเป็นภาพมิใช่แค่การสอนใจภายหลังแล้วจบ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เล่าว่า สถานการณ์ครอบครัวในปัจจุบันกว่า 60% ของเด็กแต่ละคนกล่าวว่ามีสมาชิกในครอบครัวที่ดื่มสุรา ขณะที่ร้อยละ 40 เล่นการพนัน ขณะที่ร้อยละ 70 มีหนี้สินโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจัยเศรษฐกิจเป็นผลกระทบสำคัญ บางครอบครัวพ่อแม่ต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกให้ผู้สูงอายุเลี้ยงก็ไม่เข้าใจเด็กได้ทั้งหมดเด็กต้องไปหาความรักภายนอกแทนอยู่แล้ว”วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือต้องทำหน้าที่ครอบครัวให้ได้ให้ความรัก และใช้เครือข่ายครอบครัวดึงกันไว้ ให้เขารู้ว่ามีคนที่พร้อมจะอยู่ข้างเขาแบบครอบครัวเช่นกัน และเราก็รู้ดีว่าหากมองให้ลูกเป็นคำตอบ ทุกครอบครัวก็พร้อมจะปรับตัวอยู่แล้ว”คุณหมอพรรณพิมลทิ้งท้ายเพราะเด็กคืออนาคตปัจจุบันจึงต้องร่วมแก้ไข

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code