ครอบครัวไทยยุค 4.0 ‘อยู่ดีมีสุข’ จริงหรือ?

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจาก สสส.


ครอบครัวไทยยุค 4.0 'อยู่ดีมีสุข' จริงหรือ? thaihealth


อาจไม่ใช่เพียงครอบครัวไทย ที่ต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลายในภาวะครอบครัวเปราะบางและเข้าสู่ยุคเด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัย แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังเป็นวาระสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก


อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเองอาจต้องเผชิญภาวะวิกฤตในปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นของสังคมไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะครอบครัวคนเมืองนั้น กลายเป็นกลุ่มที่มีความสุข ที่สุดในประเทศ!


ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม "ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร" อีกเวทีเสวนาดีๆ จากงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ว่า จากการดำเนินการโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว เรื่อง ครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ? โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พ.ย.2560-มี.ค.2561 ด้วยการสำรวจครอบครัวไทย 6,000 ครอบครัว ใน 4 ภูมิภาค ผลการศึกษาพบว่า ครอบครัวอยู่ดีมีสุขโดยรวม 7.72 คะแนน โดยภาคใต้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขสูงสุด 7.89 คะแนน รองลงมาเป็นภาคเหนือ และภาคกลาง 7.73 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.71 คะแนน และต่ำที่สุด คือ กทม. 7.55 คะแนน


ครอบครัวไทยยุค 4.0 'อยู่ดีมีสุข' จริงหรือ? thaihealth


เรื่องนี้ถูกเสริมข้อมูลโดย ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หากดูจากสถิติที่กรมสุขภาพจิตแถลงเดือนที่แล้วให้ว่าปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นพุ่งขึ้นมากหรือแค่ลองติดตามข่าวในสื่อจะพบข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันสภาพสังคมไทยมีความเปราะบางมากขึ้น ชีวิตที่แข่งขันและปัจจัยหลายอย่างยังดึงเด็กเยาวชนออกจากบ้าน เช่น เพราะโรงเรียนสถานศึกษาดีๆ อยู่ไกลบ้าน หรือเพราะระบบเศรษฐกิจที่ดึงพ่อแม่ออกจากบ้านไปทำงาน


"ดังนั้นเราไม่โทษเด็กที่จะมีปัญหาติดเกมหรือมีพฤติกรรมไม่ดีต่างๆ นานา เพราะเราไม่ได้เตรียมสภาพสังคมที่ดีพอให้สำหรับเขาในการเติบโต เหมือนการที่เราปลูกต้นไม้ แต่เราไม่มีดินที่ดี ไม่ค่อยใส่ใจรดน้ำเขา ดังนั้นจะเติบโตงอกงามให้ดอกผลที่ดีคงเป็นเรื่องยาก"


ณัฐยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสังคมสูงวัย การเกิดน้อยจะเป็นอุบัติการณ์ที่ดำเนินไปอย่างเด่นชัดมาก


"ปีนี้เป็นปีแรกที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิดในประเทศไทย บทเรียนจากหลายประเทศแทบไม่มีวิธีที่ทำให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้นกระแสในระดับนานาชาติ เช่น สหประชาชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศจะเริ่มมีการพูดถึงการลงทุนในเด็กและเยาวชนอย่างมาก Invest in Young People คือการลงทุนในการสร้างทุนมนุษย์เพราะยิ่งมีเด็กเกิดน้อย ยิ่งแปลว่าเราต้องสมรรถนะให้เด็กหรือคนแต่คนมากกว่าสิบเท่า"


ครอบครัวไทยยุค 4.0 'อยู่ดีมีสุข' จริงหรือ? thaihealth


ซึ่งตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนการขับเคลื่อนด้านครอบครัวอบอุ่นผ่านโครงการต่างๆ ร่วมกับภาคีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ตัวชี้วัดครอบครัวอบอุ่นใน 3 องค์ประกอบ คือ สัมพันธภาพของคนในครอบครัว บทบาทหน้าทีของสมาชิกในครอบครัว และการพึ่งตนเอง โดย สสส. จะขับเคลื่อนในสามโมเดล ส่วนที่หนึ่งคือชุมชนต้องมีส่วนร่วม


"คณะทำงานในระดับชุมชนเป็นตัวจักรที่สำคัญมาก การที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกันจัดทำศูนย์พัฒนาครอบครัวเราคิดว่าเป็นกลไกที่วางไว้ดีแล้วแต่ สสส. จะไปช่วยให้ทำงานเข้มแข็งมากขึ้นและตอบโจทย์ชุมชนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงวิชาการ และการถ่ายทอดนวัตกรรมในการทำงาน เพราะช่วงที่ผ่านมา สสส.กับภาคีเราเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละชุมชน ซึ่งมีการถอดบทเรียนวิธีการและผลลัพธ์ออกมา" ณัฐยากล่าว


ส่วนโมเดลที่สอง เนื่องจากคนในวัยแรงงานมีใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ทำงานค่อนข้างมาก สสส. คงมองว่าสถานที่ทำงานเป็น Change Agent สำคัญ หากสถานที่ทำงานมีนโยบายหรือออกแบบที่คำนึงถึงการใช้ชีวิตที่สมดุลกับพนักงานและครอบครัว ภาคส่วนนี้จะมีความสำคัญมากในการทำให้เกิดสุขภาวะในครอบครัว และสาม คือการขับเคลื่อนภาคนโยบายหรือรัฐ เพื่อขยายผลพื้นที่ต้นแบบให้กว้างขึ้น โดยการส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นในชุมชน จะดำเนินการนำร่องใน 11 จังหวัดและปี 2562 จะยกระดับเป็นจังหวัดส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง พะเยา เลย กาฬสิทธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตรัง


"การทำงานของเราทำให้พบว่า ท้องถิ่นมีบทบาทมาก เพราะเขาดูแลใกล้ชิดอยู่ติดชีวิตประชาชน ซึ่งปัจจุบันยังมีกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวง พม. ที่ดูแล แต่ก็ต้องมีท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งการขับเคลื่อนตรงนี้มีความสำคัญสูง ถ้าออกแบบทำงานได้ดีโครงสร้างแบบนี้แหละที่จะทำให้เอื้อมเข้าไปถึงมือประชาชนได้จริงๆ


"ยอมรับว่าในการทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ค่อนข้างยากเหมือนกัน เพราะ สสส. ไม่มีอำนาจหรือบทบาทในการไปสั่งบังคับใครให้ทำ เราทำได้คือการชักชวนเขาให้เขาเห็นความสำคัญและสนับสนุน โดยเฉพาะตัวคนในพื้นที่หรือชุมชนเอง


ครอบครัวไทยยุค 4.0 'อยู่ดีมีสุข' จริงหรือ? thaihealth


ด้าน แพทย์หญิงตรีธันว์ ศรีวิเชียร แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า บุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือตัวประชาชนเองที่จะต้องลุกขึ้นมาให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง


"จากประสบการณ์เห็นเลยว่าถ้าเราเป็นฝ่ายให้อย่างเดียว เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีทีสุดสำหรับคนไข้คนหนึ่ง เราไม่เคยได้ผลเลย แต่เมื่อไหร่ที่ครอบครัว หรือประชาชนเกิดความตระหนักว่า "เขาคือเจ้าของสุขภาพ" และชุมชนเองตระหนักว่าเขาเป็นเจ้าของสุขภาวะในชุมชนเหมือนกัน เมื่อนั้นความยั่งยืนจะเกิดขึ้น"


พญ.ตรีธันว์ กล่าวต่อว่า บุคลากรไม่ว่าจะในภาคสาธารณสุข การศึกษา หรือภาคต่างๆ ควรทำหน้าที่แค่คนที่เดินไปข้างๆ ประชาชนเท่านั้น คนที่เป็นเจ้าของสุขภาวะคือประชาชน


"เพราะทันทีที่เขารู้สึกอยากเป็นเจ้าของเขาจะรู้สึกว่าอยากได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองถ้าความคิดนี้เริ่มขึ้นก็จะเกิดการลุกขึ้นมาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาอย่างไรบ้าง แต่เขาอาจความพร้อมด้านต่าง เช่น ความรู้ทรัพยากร เหล่านี้คือบทบาทที่หนวยงานต่างๆ จะเข้ามาเป็นโค้ชให้กับเขา" แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พระนครศรีอยุธยากล่าว


สำหรับโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว เรื่องครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ? เป็นการสำรวจครอบครัวไทย 6,000 ครอบครัว ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ หนองคาย อุดรธานี ยโสธร สุรินทร์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชลบุรี ยะลา สุราษร์ธานี สงขลา พัทลุง และกทม. โดยวัดคะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุขด้วยองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1 ด้านความร่วมใจและปลอดภัยในชุมชน 2.ด้านสัมพันธภาพ 3.ด้านบทบาทหน้าที่ 4. ด้านเศรษฐกิจ 5. ด้านการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง 6.ด้านความมั่นคง และพึ่งพา 7. ด้านการศึกษา 8.ด้านการดูแลสุขภาพ และ 9 ด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ

Shares:
QR Code :
QR Code