ครอบครัวอบอุ่น…พลังการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

     /data/content/24866/cms/e_cdiorswxz789.jpg     


          โครงสร้างที่แตกต่างในบริบทของสังคมที่ต้องทำงานมากขึ้น ทำให้บุคคลในครอบครัวมุ่งเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจภายในครอบครัว เมื่อเป็นเช่นนี้ครอบครัวจึงเกิดช่องว่างระหว่างคนในครอบครัวขึ้น แต่ถ้าทุกคนในครอบครัวรักษาสถานภาพของตนเองไว้ได้ โดยทำตามบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น ครอบครัวก็สามารถเป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้


          สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2557 ในหัวข้อ "ครอบครัวอบอุ่น…พลังการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย"


          ทั้งนี้ ในงานการประชุมวิชาการดังกล่าว ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยและทัศนะทางวิชาการ โดยนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "สถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2556" โดย ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ "โครงการศึกษาและพัฒนาดัชนี "ครอบครัวอบอุ่น" ของประเทศไทย" โดย รศ.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาครอบครัวไทย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำมาสู่ความเข้าใจในสถานการณ์ของครอบครัวที่มากขึ้นของทุกฝ่าย การเรียนรู้นวัตกรรมและบทเรียนการทำงานส่งเสริมครอบครัว และการค้นพบแนวทางการดำเนินการพัฒนาครอบครัวและการขับเคลื่อนในสังคม


          ผศ.ดร.วิมลทิพย์ เผยว่า การนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "สถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2556 ทำการเก็บข้อมูลจาก 4,000 ตัวอย่างทั่วประเทศทั้งในเขตเมืองและชนบทที่อยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยเลือกผู้/data/content/24866/cms/e_abcdefglnuv8.jpgตอบข้อมูลที่เหมาะสมอันดับแรกจากบุตร ธิดา หรือหลานที่อายุไม่ต่ำกว่า 13 ปี หากไม่เจอ ลำดับต่อมาคือ คุณแม่ หรือภรรยา และอันดับสุดท้าย คุณพ่อ หัวหน้าครอบครัว


          โดยประเด็นคำถามจะล้อไปกับแนวทางที่จะคืนความสุขสู่ครอบครัว ก็คือ "หยุด 4 สร้าง 4" คือ 1.หยุดอบายมุข 2.หยุดภาวะหนี้สิน 3.หยุดความรุนแรงในครอบครัว ทั้งทางการใช้ วาจาหรือกำลังทำร้ายกัน รวมทั้งการทอดทิ้งกัน  และ 4.หยุดการนอกใจคู่สมรส แล้วหันมา  "สร้าง 4" ได้แก่ 1.สร้างการสื่อสารที่ดีในครอบ ครัว หันมาพูดคุยปรึกษารับฟังกัน 2.มีเวลาร่วมกัน ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกครอบครัว 3.แบ่งปันใส่ใจทุกคนในครอบครัว และ 4.ห่วงใย สุขภาพของทุกคนในครอบครัว


          จากการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทยปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากปี 2552 ในภาพรวมสถานการณ์สุขภาวะดีขึ้น เริ่มจากผลการศึกษาในเรื่องของหยุด 4 ด้านอบายมุขพบว่า ในปี 2552 ครอบครัวไทยมีบุคคลในครอบครัวดื่มสุราเป็นประจำมากที่สุดร้อยละ 62.9 ซึ่งในปี 2556 มีแนวโน้มลดลง พบร้อยละ 54.9 การเล่นหวยใต้ดิน ในปี 2552 พบร้อยละ 55.5 ซึ่งในปี 2556 ลดลงเหลือร้อยละ 48.4 ส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาล ในปี 2552 พบร้อยละ 53.7 ซึ่งในปี 2556 ลดลงเหลือร้อยละ 48.2


          ขณะเดียวกันพบว่าครอบครัวไทยมีการเล่นการพนันในปี 2552 พบร้อยละ 23.8 และพบสูงสุดในปี 2555 พบร้อยละ 40.1 ซึ่งในปี 2556 ลดลงเหลือร้อยละ 19.4 ส่วนสถานการณ์หนี้สินของครอบครัวไทยในปี 2556 พบร้อยละ 59.7 ลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 69.8 โดย 39% เป็นหนี้สหกรณ์ 34% เป็นหนี้สถาบันการเงิน 13% เป็นหนี้บัตรเครดิต และ 11% เป็นหนี้นอกระบบ ในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้งเป็นประจำมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดี คือ ในปี 2552 พบร้อยละ 23 และหลังจากนั้นค่อนข้างแกว่งเพิ่มขึ้นมาตลอด ในปี 2555 ขึ้นมาร้อยละ 43 และในปี 2556 ลดลงมีร้อยละ 35.7 โดยครอบครัวที่ดื่มของมึนเมา อบายมุข จะมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังพบว่าครอบครัวไทยมีการทอดทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่บ้านคนเดียวถึง 4-5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาขั้นต่ำ 8 ชั่วโมง และประเด็นการนอกใจคู่สมรส จากการศึกษาพบว่าในปี 2556 ลดลงอยู่ร้อยละ 18


          ผลการศึกษาในเรื่อง "สร้าง 4" พบว่าด้านการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ในปี 2556 พบร้อยละ 70 การมีเวลาร่วมกัน ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกครอบครัว พบว่า การดูโทรทัศน์ระหว่างรับประทานอาหารลดลงจากร้อยละ 40 ในปี 2556 พบร้อยละ 30 ขณะที่การแบ่งปันใส่ใจทุกคนในครอบครัว ในเรื่องความรับผิดชอบ ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74.1 จากร้อยละ 67.8 ส่วนการห่วงใยสุขภาพของทุกคนในครอบครัวด้วยการออกกำลังกายในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.7 โดยออกกำลังกาย 4 วันต่อสัปดาห์


          "เป็นความพยายามของทุกๆ ภาคส่วนที่เข้ามาทำงาน ทำให้สถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทยปี 2556 ดีขึ้น /data/content/24866/cms/e_cilmnsvx2479.jpgอย่างไรก็ตามต้องรอดูต่อไปในอีก 4-5 ปีว่าแนวโน้มสถานการณ์จะลดลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง และยังมีช่องว่างอีกมากมายที่องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปปรับปรุง ร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว" ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว


          ด้าน รศ.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ กล่าวว่าคำว่าครอบครัวอบอุ่นเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณ เป็นความรักที่มาจากความปรารถนาดีที่อยากจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จริงๆ แล้วคำว่าครอบครัวเป็นมากกว่ากลุ่มคนที่มาอยู่รวมกัน โครงสร้างของครอบครัวไม่ได้เป็นตัวที่บ่งบอกความเป็นครอบครัวที่เรายึดรวมกัน แต่มันเป็นไปด้วยสายสัมพันธ์หรือความเหนียวแน่นของคุณค่าทางจิตวิญญาณ ที่เรามอบความดีงามให้แก่กันและกัน


          การจัดทำการศึกษาและพัฒนาดัชนี "ครอบครัวอบอุ่น" ของประเทศไทย ก็เพื่ออยากเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการสร้างเสริมคุณค่าในเรื่องของครอบครัวอบอุ่นเกิดขึ้นกับสังคมไทย แล้วเรียกคืนพลังนั้นกลับคืนมา โดยองค์ประกอบตัวชี้วัดครอบครัวอบอุ่นได้แก่ 1.สัมพันธภาพในครอบครัว คือ การอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ด้วยความรักความเข้าใจ เอื้ออาทร ทำกิจกรรมร่วมกัน มีหลักคิด คุณธรรมในครอบครัว 2.บทบาทหน้าที่ คือ การทำหน้าที่ในการดูแลสมาชิกทุกคน ความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และ 3.การพึ่งตนเอง


         ในเรื่องของรายได้ การจัดการค่าใช้จ่าย การเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ปราศจากพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้จะเป็นข้อมูลในการสำรวจดัชนีของครอบครัวไทย เมื่อหลังจากทำการสำรวจแล้วผลที่ได้จะนำไปต่อยอดในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อไป


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code