ครอบครัวสร้างสัมพันธ์ ลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

กรมสุขภาพจิตเผยทุกชั่วโมงมีเด็ก-สตรีถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย พบเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุดจากคนรอบตัว ส่งผลให้ซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แนะครอบครัวสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สังคมไม่เพิกเฉย เพื่อลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

วันที่ 22 พ.ย. 56 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานทางใจให้กับสตรีและเด็ก ตลอดจนเป็นปัญหาที่สร้างความสูญเสียและผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพเด็ก และสตรี ส่งผลให้ครอบครัวต้องแบกรับภาระที่ยาวนาน ทั้งการดำเนินคดี การรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟูทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายเพียงเท่านั้น ยังมีรูปแบบการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ เช่น การด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เศร้า เสียใจ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ทอดทิ้ง หรือการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ข่มขู่ การนอกใจ การบังคับให้ค้าประเวณี การเพิกเฉยไม่สนใจไยดี เป็นต้น

จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2554 พบว่า มีจำนวนถึง 22,565 รายที่มาเข้ารับบริการ หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือกล่าวได้ว่า ในทุกชั่วโมงมีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย โดยเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด รองลงมา คือ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ขณะที่สตรีถูกกระทำความรุนแรงด้านร่างกายมากที่สุด รองลงมา คือ ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและจิตใจ สำหรับผู้กระทำความรุนแรงในเด็กมากที่สุด คือ แฟน เพื่อน และคนในครอบครัว ขณะที่ผู้กระทำความรุนแรงในสตรีมากที่สุด ได้แก่ สามี แฟน และคนในครอบครัว ส่วนสาเหตุของการกระทำความรุนแรงในเด็ก อันดับ 1 ได้แก่ สภาพแวดล้อม อาทิ สื่อลามกต่างๆ หรือความใกล้ชิด รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น อาทิ การดื่มสุรา ใช้สารเสพติดอื่นๆ และสัมพันธภาพในครอบครัว ขณะที่สาเหตุการกระทำความรุนแรงในสตรีอันดับ 1 ได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัว อาทิ การนอกใจ ทะเลาะ หึงหวง รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น และสภาพแวดล้อม

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมีทั้งทางกายและทางใจ ยิ่งถูกกระทำความรุนแรงมากก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งในผู้หญิงนั้นบาดแผลภายในจิตใจถือว่าไม่อาจลบเลือนไปได้ง่ายๆ ส่งผลต่ออารมณ์ บุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความกระวนกระวาย จิตใจแปรปรวน ขณะที่บางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง กลัวสังคมไม่ยอมรับ อับอาย ซึมเศร้า หรือบางรายมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา แม้เหตุการณ์สิ้นสุดมาเป็นเวลานานแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้เด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะเกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ต่างกับเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศโดยตรง โดยในเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวของตัวเอง เนื่องจากเด็กที่ถูกทุบตี ทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง และจะเข้าใจผิดว่า ปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง รวมทั้งการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กก็จะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวของตนเอง

จากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในครอบครัว ซึ่งแนวทางป้องกันหรือลดความรุนแรงที่สามารถทำได้ คือ ต้องเริ่มจากครอบครัวและตัวเราก่อนซึ่งพื้นฐานที่ดีของครอบครัวถือเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว มีการสื่อสารทางบวก ยอมรับบทบาทของกันและกัน เคารพและให้เกียรติ ให้ความรัก เอาใจใส่ ไม่นอกใจกัน ควบคุมอารมณ์ ให้อภัยซึ่งกันและกัน หันหน้าหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนและหาข้อยุติของปัญหา

รวมทั้งอบรมเลี้ยงดูและปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม ทั้งลูกผู้หญิงและลูกผู้ชายให้มีความเสมอภาคชายหญิงเท่าเทียมกัน สอนให้รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช้อำนาจ ไม่เอาเปรียบ สอนทักษะระงับความโกรธ หรือเมื่อจะลงโทษลูกควรเลือกใช้วิธีอื่นแทนการเฆี่ยนตี เช่น ให้ทำงานบ้านชดเชย ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน ยึดหลักศาสนา พัฒนาจิตตัวเอง เห็นถึงบทบาทที่ดีของหญิงชาย เป็นตัวอย่างของการลด ละ เลิกอบายมุขทั้งปวง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และการพนัน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ส่วนในระดับสังคม ควรยอมรับในความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาด้วยการทำร้ายอีกฝ่าย

“ถ้าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต้องไม่เพิกเฉย รีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา แนะนำแหล่งข้อมูลหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบเฝ้าระวังการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องส่วนตัวของใคร” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ทั้งนี้หากพบคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากถูกกระทำความรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยให้บริการแบบสหวิชาชาชีพและครบวงจร ทั้งด้านการแพทย์ การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ การสังคมสงเคราะห์ และด้านกฎหมาย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code