ครอบครัวสดใสไร้ควันพิษ’บุหรี่’
อีกความพยายามที่จะทำให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่ คือการรณรงค์ชี้ให้เห็นถึงโทษร้ายกาจจากความเจ็บป่วยมากมาย ซึ่งจะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เยาวชน จนถึงครอบครัว รวมทั้งเพิ่มมาตรการทางกฎหมายด้วยการขึ้นอัตราภาษียาสูบ และจำกัดพื้นที่ห้ามสูบ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ก็ขานรับแนวทางนี้และปฏิบัติตาม เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งเมืองไทยจะปลอดจากควันพิษดังกล่าว ซึ่งนอกจากทำร้ายตัวผู้เสพแล้ว ยังกระทบไปสู่คนใกล้ชิดด้วย
ล่าสุด นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. ได้จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการสถานบริการสาธารณสุขปลอดบุหรี่ กับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ โดยให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งของ กทม. ประกอบด้วย โรงพยาบาล 9 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดสำนักอนามัย 68 แห่ง สมัครเป็นสมาชิกสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ รวมทั้งดำเนินการตามมาตรฐานโรงพยาบาลและสถานพยาบาลปลอดบุหรี่ ตลอดจนเป็นสถานบริการสาธารณสุขปลอดบุหรี่ต้นแบบแก่สถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ ต่อไป และในอนาคตจะขยายโครงการไปยังสำนักงานเขตอีก 50 แห่ง และโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 438 โรง ให้ปลอดบุหรี่ด้วยเช่นกัน
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า อัตราสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มี 10.91 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.70 ในจำนวนนี้พบว่าเป็นประชากรใน กทม. 671,744 คน คิดเป็นร้อยละ 12.03 โดยสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ ตั้งเป้าลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยร้อยละ 15 ภายใน 14 ปี เฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันในภาพรวมระดับประเทศ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ลดลง มีการลดสูบบุหรี่มากขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ อายุของผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นเยาวชนอายุเฉลี่ย 15-18 ปี และส่วนหนึ่งที่มีปัญหาการใช้สารเสพติดทั้งหมดมีประวัติการสูบบุหรี่ก่อนทั้งนั้น เฉลี่ยเยาวชนเริ่มหัดสูบบุหรี่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนหนึ่งมาจากสังคมและสถานที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการลองสูบบุหรี่ มีผู้สูบบุหรี่ในบ้าน ในชุมชนเป็นแบบอย่าง
ที่ผ่านมามีการพัฒนารูปแบบการสูบที่หลากหลาย อาทิ การสูบบุหรี่ไฟฟ้า มอระกู่ โดยมีการกล่าวอ้างว่าสูบแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่มีสารก่อมะเร็ง ดีกว่าสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ผิด ยืนยันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ ซึ่งควรที่จะต้องมีการควบคุมหรือออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้
"บุหรี่เป็นต้นเหตุและทำลายสุขภาพอย่างร้ายแรง และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาจริงเอาจังในการรณรงค์ให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะผลสำรวจพบว่า เด็กที่ขอร้องพ่อแม่ที่สูบบุหรี่ หรือแสดงออกชัดเจนว่าไม่ชอบเป็นเรื่องผิด เช่น บอกเหม็น ขอให้เลิกสูบ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้พ่อแม่ลดปริมาณการสูบลง หรือเลิกสูบในที่สุด การรณรงค์ปลอดบุหรี่จึงเป็นการป้องกันและลดผู้ติดสารเสพติดอื่นๆ ได้" พญ.ป่านฤดีกล่าว
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดย สสส. ยังเปิดเผยผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พบว่า การรับสารนิโคตินจากยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นที่รับมาจากพันธุกรรม ล่าสุดจากการทดลองในสัตว์แสดงให้เห็นว่าการได้รับสารนิโคตินก่อนคลอดมีอิทธิพลต่อสมอง ซึ่งในมนุษย์ก็เช่นกัน นิโคตินจะถูกส่งจากแม่สู่ลูก กระตุ้นโรคสมาธิสั้นในเด็ก
ขณะที่ พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า โรคสมาธิสั้นเป็นโรคในวัยเด็กที่นำไปสู่ภาวะก้าวร้าว ต่อต้านสังคม และปัญหาการเสพยาหรือใช้ความรุนแรงในวัยรุ่น
จากการสำรวจความชุกของโรคสมาธิสั้นในไทย พ.ศ.2555 จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้น ป.1-5 จำนวน 7,188 คนทั่วประเทศ พบว่า ความชุกของโรคสมาธิสั้นเท่ากับร้อยละ 8.1 เป็นเพศชายร้อยละ 12 และหญิงร้อยละ 4.2 หรือเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า
จึงประมาณการได้ว่า มีเด็กนักเรียนไทยเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งอัตราความชุกของโรคสมาธิสั้น ในไทยมีค่าใกล้เคียงอเมริการ้อยละ 9 แต่สูงกว่าหลายๆ ประเทศที่พบประมาณร้อยละ 5-6 อาการสมาธิสั้นที่พบมากที่สุด คือ ซน หุนหันพลันแล่น ซึ่งต้องเข้ารับการรักษา
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคี สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดเรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงข้อมูลสถานที่ห้ามสูบบุหรี่อย่างจริงจัง และการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เนื่องจากขั้นตอนในการดำเนินการเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนใช้เวลานาน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ควรมีการให้ความรู้เรื่องสถานที่ห้ามสูบด้วยการติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์ห้ามสูบที่ชัดเจน
ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการพิจารณาปรับขั้นตอนการเอาผิดด้วยการออกเป็นใบสั่ง เมื่อพบเจอผู้กระทำความผิดเหมือนผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายจราจร เมื่อออกใบสั่งแล้วผู้ที่กระทำความผิดก็ต้องไปเสียค่าปรับตามเวลาที่กำหนด โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับแจ้งจะเป็นผู้ออกใบสั่ง หากมีการปรับจะลดเวลาในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายจะเข้มข้นขึ้น ท้ายที่สุดจะส่งผลให้ลดการฝ่าฝืนการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ
นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังเสริมว่า แม้ประเทศไทยกำหนดให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และมีกฎหมายการติดตั้งสติกเกอร์หรือป้ายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ 100% เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสอง เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ผู้ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทำได้ง่ายขึ้น แต่เฉลี่ยแล้วคนไทยที่เลิกบุหรี่ได้จะติดบุหรี่นานถึง 23 ปี มีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่เหลือจะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ซึ่งประเทศไทยพบ 2 ใน 3 ของคนที่ติดบุหรี่จะเริ่มติดก่อนอายุ 18 ปี ที่เหลือติดก่อนอายุ 25 ปี
การชี้ให้เห็นโทษภัยและควบคุมพื้นที่การสูบบุหรี่ เป็นมาตรการสำคัญที่จะหยุดยั้งนักสูบหน้าใหม่ให้ห่างไกลจากควันพิษเหล่านี้ได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต