‘คนไร้บ้าน’ เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพโดย สสส.


'คนไร้บ้าน' เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่ thaihealth


"คนไร้บ้าน" (Homeless) เป็นสิ่งที่พบได้ในทุกเมืองทั่วโลกภาพลักษณ์ของคนไร้บ้านในสายตาคนทั่วไปคือ ดูน่ากลัว แต่ในอีกมุมหนึ่ง "เชื่อเถิดไม่มีใครอยากไร้บ้าน" หากแต่คนที่ต้องมากินอยู่หลับนอนบนพื้นที่สาธารณะล้วนมีสาเหตุบางอย่าง


ดังเรื่องเล่าจาก 4 นักกิจกรรมที่ทำงานกับคนไร้บ้าน ในงานเสวนา "Human of street : เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ณัฐวุฒิ กรมภักดี กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านขอนแก่น เปิดเผยถึงจำนวนคนไร้บ้าน โดย "การสำรวจเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น" เมื่อปี 2558 พบคนไร้บ้าน 136 ราย ปี 2559 เหลือ 119 ราย และปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 146 ราย คนไร้บ้านจะกระจุกตัวอยู่บริเวณศาลหลักเมือง ท่ารถโดยสาร สวนประตูเมือง หรือแถวห้างสรรพสินค้า ด้วยความที่ตัวเมืองไม่ได้ใหญ่มากเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานคร (กทม.)


จากประสบการณ์การทำงาน พบว่า "โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดคนไร้บ้าน" เช่น เข้าถึงไม่ถึงแหล่งงาน อย่างใน จ.ขอนแก่น ที่เขตในเมืองกับนอกเมืองยังไม่แยกกันมากนัก "หลายคนประสบปัญหาด้านที่ดินทำกิน บีบให้ต้องเข้ามาหางานทำในเมือง" โดยปัจจุบันสิ่งที่น่ากังวลคือ "โครงการยกระดับขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City)" ซึ่งจะมีโครงการพัฒนาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะโครงการรถไฟต่าง ๆ ที่ทำให้ชุมชนตามแนวทางรถไฟสุ่มเสี่ยงถูกไล่รื้อกลายเป็นคนไร้บ้านในอนาคต


'คนไร้บ้าน' เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่ thaihealth


"ผมเคยคุยกับคนที่เป็นต้นคิด หลักการมันดีตรงที่ทำให้เมืองมันสมาร์ทในหลายด้าน แต่พอไปดูรายละเอียดกลับพบว่าการสร้างช่องทางการเข้าถึงของคนทุกระดับมันไม่ถึง หมายถึงคุณจะออกแบบขนส่งสาธารณะที่ดี จะออกแบบระบบรถไฟที่มันรวดเร็วขึ้น แต่คนที่ใช้ประโยชน์หรือคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกลับไม่ใช่กลุ่มคนจนระดับล่างหรือคนไร้บ้านด้วยซ้ำ ไม่ได้มีสิ่งรองรับ" ณัฐวุฒิ กล่าว


วิเชียร ทาหล้า อาสาสมัครเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ กล่าวถึงคำถามที่ว่า "ทำไมต้องมาเป็นคนไร้บ้าน?" โดยคำตอบอาจเป็นเพราะ "คนทุกคนต้องการการยอมรับ" เมื่อที่อยู่เดิมไม่สามารถให้ความรู้สึกนั้นได้จึงตัดสินใจก้าวออกมา "แรก ๆ ความฝันยังเปล่งประกาย..ร่างกายแข็งแรงแบบนี้เดี๋ยวก็ได้งาน" แต่เมื่ออยู่นาน ๆ ไป "อายุมากขึ้นก็คิดแค่ว่าขอมีชีวิตแค่วันนี้ ก็พอ..พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน" มุมหนึ่งคือการมองว่าตนเองเป็นอิสรชนผู้อยู่อย่างเสรี แต่อีกมุมปฏิเสธไม่ได้ว่าคนคนนั้นไม่มีที่ไป "ไม่เหลือแล้วซึ่งความหวัง" เพียงแต่ยังไม่ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายก็เท่านั้น


'คนไร้บ้าน' เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่ thaihealth


สมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าว่า หากย้อนไปเมื่อราวปี 2526 – 2527 ที่เมืองยังไม่เจริญมากนัก สมัยนั้นเป็นยุคที่คนอพยพเข้ามาขายแรงงานในเมือง เมื่อเจอที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของก็ไปปักหลักก่อสร้างที่อยู่อาศัย "บางคนเรียกบุกรุก แต่อยากให้เรียกบุกเบิกมากกว่า" ต่อมาเมื่อเมืองเจริญขึ้นก็มีผู้มาแสดงสิทธิ์ในที่ดินนั้นทั้งรัฐและเอกชน นำมาสู่การทวงคืนที่ดินและการไล่รื้อ


ทั้งนี้ มูลนิธิย้ำเสมอว่า "ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนไปยึดที่ดินผู้อื่น แต่พยายามสร้างการมีส่วนร่วม" จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้อยู่ในเมืองได้ เช่น กรณีเป็นที่ดินของรัฐก็เข้าไปเจรจา "เบื้องต้นขอให้ประชาชนได้เช่าอยู่ไปก่อน เมื่อจะมีโครงการพัฒนาก็ให้มาเจรจาหาทางออกร่วมกัน" แทนการไล่รื้ออย่างที่เคยเป็นมา กระทั่ง "เจอกลุ่มคนจนกลุ่มใหม่ ๆ " เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของเมืองจนราวกับว่ามูลนิธิฯ ช่วยสร้างบ้านไปเท่าไรก็ดูจะไม่เพียงพอ


'คนไร้บ้าน' เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่ thaihealth


"อย่างกลุ่มคนใต้สะพานคือที่ดินเริ่มมีเจ้าของหมดแล้ว เมืองเจริญคนก็หลั่งไหลเข้ามาในเมืองอยู่ดี เพราะเขารู้สึกว่าเมืองอย่างกรุงเทพฯ ทำให้เขามีรายได้ สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวตัวเองได้ พอเมืองเจริญสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือถนน ทางด่วน ซึ่งเขาไม่สามารถไปอยู่อาศัยตรงไหนได้ก็เข้าไปอยู่ใต้นั้น เรื่องนี้ถ้าจะพูดจริง ๆ มันต้องพูดถึงเรื่องโครงสร้างสังคม มันจะต้องแก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้คนหลั่งไหลเข้าเมือง หรือทำอย่างไรให้คนสามารถอยู่ในถิ่นเดิมของเขาได้" ตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าว


อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน กล่าวว่า หากประเทศหนึ่งพัฒนาโดยให้บางเมืองเจริญเติบโตมากกว่าเมืองอื่น ๆ ย่อมต้องเกิดการเปรียบเทียบว่าอยู่ที่ไหนจะมีรายได้มากกว่า? "เข้าเมืองโดยแลกกับ…คุ้มไหม?" เป็นต้นตอของ "การเคลื่อนย้ายแรงงาน" และเมื่อไม่มีกระบวนการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม หลายประเทศก็จะมีสภาพเหมือนกันคือ "อยู่กับแบบชุมชนแออัด" นำมาสู่คำถามที่ว่า "คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ไม่ดีใช่หรือไม่?" คำตอบอาจจะเป็น "ใช่..แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าที่บ้านเกิด" แม้จะดูแย่กว่าคนที่มีภูมิลำเนาในเมืองนั้นอยู่แล้วก็ตาม


'คนไร้บ้าน' เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่ thaihealth


ประเด็นที่ต้องขบคิดกันต่อ  "การพัฒนาที่ดินของรัฐเหตุใดต้องเน้นกำไรสูงสุด?..ตกลงแล้วรัฐมีหน้าที่อะไรกันแน่?" และหากจะมองให้ลึก "หลักคิดเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์คือต้นตอของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย" ที่ผ่านมา "ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตต้องมีรถและมีบ้าน" รถยนต์นั้นระยะหลัง ๆ อาจถูกพูดถึงน้อยลงไปบ้าง แต่บ้านยังเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดิม


"ประเทศเราไม่เคยมี Housing Policy (นโยบายที่อยู่อาศัย) ที่เป็นห่วงว่าเราจะมีบ้านหรือไม่? บ้านถูกผลักดันให้กลายเป็นสินค้าเต็มรูปแบบมาตั้งแต่เมื่อไร? จำไม่ได้แล้ว บ้านใครก็ตัวใครตัวมัน มีสตางค์ก็ซื้อ ไม่มีก็เช่า แล้วเจอเรื่องที่น่าตกใจ ใครที่ผ่อนบ้านจะรู้ว่าดอกเบี้ยมันเป็นเท่าไร แล้ว Income (รายรับ) ชั่วชีวิตเราจ่ายให้กับตรงนี้ สัดส่วนเท่ากับเท่าไรกับกำลังที่เราหามาได้ทั้งชีวิต แล้วพอตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศผลประกอบการธนาคาร เราก็จะเห็น มันมีเรื่องที่ผูกโยงกันระหว่างที่ดิน บ้านที่อยู่อาศัย แล้วก็การผ่อน เราก็ยอมเพราะเขาก็ว่ากันอย่างนี้" อาทิตย์ กล่าว


'คนไร้บ้าน' เปราะบาง..กลางเมืองใหญ่ thaihealth


บทสรุปของวงเสวนาปัญหาคนไร้บ้านเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องและซับซ้อน ตั้งแต่ปมในใจของแต่ละคนที่ทำให้เลือกออกมาจากที่อยู่เดิม การไม่มีงานทำจากอายุที่มากขึ้นและสังขารร่วงโรย โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ครอบคลุมถึงความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ไปจนถึงปัญหาเฉพาะตัวอย่างความเจ็บป่วย การเคยเป็นผู้ต้องโทษ ความพิการ การไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ฯลฯ


แต่ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่คงหนีไม่พ้น "การพัฒนาที่ไม่สมดุล" ทำให้คนต้องจากบ้านเกิดไปแสวงโชคในเมืองใหญ่ หากประสบความสำเร็จก็ดี..แต่ถ้าล้มเหลวก็ไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไรหลังจากนั้น

Shares:
QR Code :
QR Code