คนไทย IS HAPPY เส้นทางสร้างสุขภาวะดี 8 เส้นทางแห่งความสุข

ข้อมูลจาก : งาน “สัปดาห์ความสุขสากล 2024 “

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ปรารถนาสูงสุดของทุกคน เชื่อว่า หนีไม่พ้น “ความสุข” ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ความพรั่งพร้อมของทรัพย์เงินทอง คนรักมากมายพร้อมหน้า มีเสียงชื่อ แต่จะทำอย่างไรให้ความสุขนั้นคงอยู่ตลอดไป ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN)กำหนดให้เป็นวันสุขสากล (Internation Day of Happiness ) โดยปีนี้หวังสังคมโลกตระหนักถึงความสุขที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ Happier Together

                    จากรายงานความสุขโลก ปี 2566 (World Happiness Report 2023) ประเทศไทย มีดัชนีความสุขเพิ่มขึ้น ในลำดับที่ 60 ของโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับความสุขเปลี่ยนแปลง คือ ความเอื้ออาทรต่อกันในสังคม (Generosity) โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความสุขเป็นเรื่องของความรู้สึก อารมณ์ ความเข้าใจ ซึ่งความยั่งยืนของความสุขไม่ใช่มาจาก วัตถุหรือสิ่งของ เพราะไม่เช่นนั้นต้องมีการแสวงหาสิ่งของต่อไปเรื่อย ๆ แต่ความสุขที่คงอยู่ได้นาน เกิดการพัฒนาจิต สติปัญญา ภาคภูมิใจ ทั้งนี้ ระหว่างเส้นทางของชีวิตอาจมีความทุกข์  ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ แต่หากเปลี่ยนวิธีคิดมุมมอง อย่างเข้าใจก็ช่วยให้ผ่านวิกฤตไปได้

                    ความสุขตามกลไกของร่างกายเกิดจากการหลั่งสารสื่อความสุขออกมา แต่รูปแบบของสารมีความแตกต่างกัน ทั้งความสุข และความยั่งยืนของความสุข โดย พบว่า ความสุขส่วนรวม ที่เกิดขึ้นจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือ ทำประโยชน์ให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน สังคม ให้ระดับความสุขที่ยาวนานกว่า ความสุขส่วนตัว ที่เกิดเพียงชั่วครู่

                    “ความสุขส่วนตัว  สมองจะหลั่งสาร โดปามีน (dopamine) เป็นสารที่โหยหาความสุข ดึงเข้าหาตัวเอง อยากได้ อยากมี ทั้งความสุข อิจฉา เป็นสารที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ ทำให้คนเกิดการพัฒนาศักยภาพ และอยากประสบความสำเร็จ  ขณะที่ความสุขส่วนรวม  เกิดจาก ฮอร์โมน ออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่มักการหลั่งในแม่ที่ให้นมบุตร เป็นลักษณะของฮอร์โมนที่หลั่งออกมา เพื่อความเอื้ออาทร ความผูกพันธ์  การได้ช่วยเหลือผู้อื่น ในสังคมที่เหลื่อมล้ำในปัจจุบัน มีทั้งการแก่งแย่ง การเกิดความสุขส่วนรวมในลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า เป็นความสุขที่สร้างโลก และช่วยให้เกิดความอยู่รอดในสังคมได้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    ซึ่งปีนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ  ทั้ง ธนาคารความสุข, มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา, กลุ่มชีวามิตร ,อาสาคืนศุกร์ ,อาสาคืนถิ่นและพลเมืองอาสา ,ธนาคารจิตอาสา ,ค่ายสารคดี และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นต้น เชิญชวนส่งต่อความสุขและกระจายความสุขออกไป ให้กับคนรอบข้าง เนื่องใน “สัปดาห์ความสุขสากล 2024” ภายใต้แนวคิด Happiness Connects ความสุขที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 4 เมษายน 2567  มีการจัดกิจกรรมทั้งแบบออนไลน์ และ ออฟไลน์ ใน 8 เส้นทางความสุข มุ่งเน้นสร้างความสุขเริ่มด้วยตนเอง ได้แก่

1 ความสุขจากความสัมพันธ์ เป็นการพัฒนาความสุขจากการรับฟัง

2 ความสุขจากศิลปะ เป็นการระบายความสุขผ่านศิลปะ เช่น ระบายสีใจ ,การ์ดส่งความสุข ,สติปลายพู่กัน

3 ความสุขจากงานจิตอาสา เช่น อาสาสมัครอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลใน 6 โรงพยาบาล หรือ อาสาสมัครดูแลสัตว์

4 ความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ เช่น กลิ่นกับความสุข

5 ความสุขจากการภาวนา เช่น การเรียนรู้ปริศนาธรรมในสวนโมกข์กรุงเทพฯ หรือ เติมสุขปลุกสติ

6 ความสุขจากการเรียนรู้ เช่น วิชาความสุข หรือ โมโนโนะอาวาเระ สุข-เศร้า คือเงาของกันและกัน

7 ความสุขจากการทำงาน  เช่น การค้นพบเพชรในตนสร้างสุขในชีวิต

8 ความสุขจากการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การฟังร่างกายสร้างสุขได้อย่างยั่งยืน

                    นายธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา  กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้น ตลอด 2 สัปดาห์นี้  มีความหลากหลาย บางกิจกรรมต้องพาตัวเองเข้าร่วมเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง   ช่วยยกระดับให้เกิด ความเข้าใจตัวเอง และที่สำคัญอยู่กับตัวเอง โดยหลากหลายภาคีให้การสนับสนุน ทั้ง ภาคีก่อการครู ,มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ,ค่ายสารคดี  ซึ่ง 8 เส้นทางหรือกิจกรรมทั้งหมด  ล้วนมีหมุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้คนเข้าถึงความสุขด้วยตัวเอง  ผู้สนใจอยากพัฒนาจิตใจ และเข้าใจความสุข สามารถสมัครได้ ผ่านเพจความสุขประเทศไทย และ Soul Connect Fest

                    “ความสุขไม่ได้ยึดโยงกับการทำกิจกรรม หรือ ปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างเดียว ในสื่อสังคมออนไลน์ ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความสุข เพราะได้ติดต่อเพื่อนที่ไม่เคยเจอในอดีต แต่ด้วยธรรมชาติของจิต ก็มักพาให้เกิดการเปรียบเทียบกับผู้อื่น หากรู้เท่ากันก็ไม่เกิดปัญหา และความทุกข์ ”   นายธีระพล กล่าว

                    ขณะที่ ดีเจพี่อ้อย น.ส.นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ได้ขยายมุมมองและ นิยามความสุขอย่างง่าย ว่า เพราะคนแตกต่างกัน มุมมองความสุขจึงไม่เหมือนกัน  บางคนสุขใจ จากการได้ซื้อสินค้าแบรนด์เนม  บางคนอาจมีความสุขจากการรับประทานอาหาร  หรือ บางคนมีความสุขจากการออกกำลังกาย ฉะนั้น หากเข้าใจว่า “ความสุขไม่ได้เกิดจากว่า เรามีอะไร แต่เรารู้สึกอย่างไร”  ส่วนที่ความสุขในปัจจุบัน ถูกเชื่อมโยงกับ สังคมออนไลน์ มีการแชร์ภาพ การทำกิจกรรม และเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่น โดยไม่ได้ตั้งใจ ต้องเข้าใจธรรมชาติของคน ว่า มักชอบเปรียบเทียบ แต่ความจริงแล้ว  “ความสุขคือความพอใจ” และความสุข “เป็นความทุกข์ที่พอดีกับความอดทน”

                    ความสุข จากการแบ่งปัน การให้ ทั้งความมีน้ำใจ ช่วยเหลือ เกื้อกูล จะช่วยเติมเต็ม สร้างสุขไปสู่สังคมในที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code