คนไทยใช้ยาเฉลี่ยวันละ 128 ล.เม็ด

สธ.เผยคนไทยใช้ยาเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด รอบ 8 ปีมูลค่าใช้ยาเพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นล้านบาทเล็งใช้มาตรการไข่-ขันแลกยาเหน็บฝาบ้าน จูงใจคนไทยใช้ยาสมเหตุสมผล

คนไทยใช้ยาเฉลี่ยวันละ 128 ล.เม็ด สธ.ชี้รอบ 8 ปีมูลค่าใช้ยาเพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นล้านบาท

นายวิทยา บุรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ว่า กรมการแพทย์รายงานตัวเลขปริมาณการใช้ยาของคนไทย พบว่าคนไทยใช้ยามากถึงกว่า 4.7 หมื่นล้านเม็ด หรือวันละ 128 ล้านเม็ด ถือเป็นตัวเลขที่น่าห่วงอย่างยิ่ง ซึ่งอาจจะทำเกิดการสะสมและเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น คนไทยควรที่จะดูแลสุขภาพป้องกันไม่ให้ตนเองป่วย จะช่วยลดปริมาณการบริโภคลง โดยในปีงบประมาณ 2556 สธ.จะเน้นการรณรงค์อาหารสุขภาพและออกกำลังเพื่อลดปริมาณการบริโภคยาของประชาชน

“ผมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการรณรงค์ให้มีการลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นโดยมีมาตรการจูงใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ประชาชนซื้อหรือรับไปแล้วนำไปเหน็บไว้ตามฝาผนังบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาจจะมีมาตรการจูงใจลดการใช้ อาทิ นำไข่หรือขันน้ำไปแลกยาจากชาวบ้าน เป็นต้น ซึ่งมีบางจังหวัดำเนินการใช้มาตรการนี้แล้ว แต่จะให้ใช้ทั่วประเทศคงเป็นไปไม่ได้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ว่าจะใช้มาตรการใด” นายวิทยากล่าว

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ นำเสนอในที่ประชุมว่า มูลค่ายาที่ใช้ในประเทศไทย แนวโน้มมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่าการใช้ยาเพิ่มขึ้จาก 36,506 ล้านบาทในปี 2543 เป็น 98,375 ล้านบาทในปี 2551 มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณ 15% และมีแนวโน้มใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยจาก 46.06% เป็น 65.54% ในช่วงระหว่างปี 2543-2551 สำหรับจำนวนยาเม็ดที่บริโภคต่อวัน จากข้อมูลยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณทั้งนำเข้าและผลิตเองในปี 2553 มีประมาณ 46,900 ล้านเม็ดแยกเป็นยาแผนปัจจุบันประมาณ 44,800 ล้านเม็ดยาแผนโบราณ 2,100 ล้านเม็ด

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งพบว่ามีการใช้มากเป็นอันดับ 1 มูลค่าประมาณ 18-20% ของยาทั้งหมด และบางครั้งเป็นการใช้ยาที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ใช้รักษาอาการไข้หวัดที่เกิดจากไวรัส และท้องเสียที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ เป็นต้น จากการศึกษารพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของการใช้ยา 10 ข้อสำคัญ คือ 1.ปรับขนาดยาเองตามใจชอบ ซึ่งอาจเกิดอันตรายเพราะโรคบางอย่างต้องการยาต่อเนื่อง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือยาบางอย่างต้องกินให้หมดตามแพทย์สั่ง 2.นำยาของคืนอื่นมาใช้ 3.ไม่ฟังคำอธิบายจากเภสัชกร เนื่องจากรีบกลับบ้านและไม่สนใจอ่านฉลากหรือเอกสารกำกับยา 4.เก็บยาไม่ถูกต้อง ทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุประสิทธิภาพยาลดลง 5.ไม่ดูวันหมดอายุเวลาซื้อยา 6.ลืมรับประทานยา 7.ใช้ยาไม่ถูกต้องทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล 8.ไม่นำยาเก่ามาด้วยเวลามารักษาตัวในโรงพยาบาล บางครั้งจึงไม่ได้รับยาที่รับประทานต่อเนื่อง 9.รับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล ทำได้รับยาซ้ำซ้อน และ 10.เชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code