คนไทยโสด-มีลูกน้อยแนะรับมือสังคมสูงวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์
วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลการสำรวจประชากรพบปี 2560 คนไทยอยากมีบุตร 1.69 คน ลดลงจากปี 2544อยู่ที่ 1.86 คน หญิงอายุ 35-39 ปีมีแนวโน้มไม่แต่งงานและอยู่เป็นโสดมากสุด ขณะที่ปัจจุบันผู้สูงอายุ 18% ของประชากรปี 2564 จะเพิ่มอีก 20% ชี้ 1 ใน 3 มีรายได้ ไม่ถึง 30,0000 บาทต่อปี ขณะที่ เด็กเกิดน้อยปี 2560 เพียง 7 แสนคนคาดว่า ปี 2583 จะเกิด 5 แสน แนะทุกภาคส่วน ร่วมมือวางแผนยุทธศาสตร์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ
วานนี้ (14 ก.พ.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน "สานพลังเพื่ออนาคต ประเทศไทย ยุคเด็ก เกิดน้อย สังคมสูงวัย" ซึ่งเป็นความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม 30 หน่วยงาน ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก
ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุ 18% ของประชากรทั้งหมด ในปี 2564 จะเพิ่มอีก 20% และในปี 2574 มีผู้สูงอายุ 28% ของประชากรทั้งหมด ที่น่าเป็นห่วงคือ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุเป็น ผู้มีรายได้ไม่น้อย ไม่ถึง 30,0000 บาทต่อปี มีภาวะเจ็บป่วยความดัน เบาหวานถึง 60% และโรคอื่นๆ ขณะที่ ปัญหาเด็กเกิดน้อย ข้อมูลจาก สธ.ระบุปี 2546 มีเด็กเกิดประมาณ 8 แสนคน ปี 2560 เด็กเกิด 7 แสนคน และคาดว่าใน ปี 2583 เด็กเกิดประมาณ 5 แสนคน ซึ่งแนวโน้มจะลดลง ยังมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องคุณภาพเด็กทั้งด้านพัฒนาการ โภชนาการที่ต่ำกว่าเกณฑ์อีกด้วย
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยลง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มเป็นงานสำคัญที่ต้องวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แต่อาศัยเพียงหน่วยงานราชการดำเนินการ อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วน มาร่วมบูรณาการทำงานร่วมกันนำแผนงาน และยุทธศาสตร์ไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ตาม สธ.และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลทั้งเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของเด็กและ ผู้สูงอายุ โดยให้พม.เป็นเจ้าภาพหลักเชิญ หน่วยงานต่างๆเรื่องดังกล่าวมาประชุมหารือเพื่อวางแผนขับเคลื่อนงานร่วมกันต่อไป
แนวโน้มคนไทยมีบุตรลดลง ภายในงานได้มีการนำเสนอผลการสำรวจ "โครงการการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย : ยุคเด็กเกิดน้อย" โดย น.ส.วิราภรณ์ โพธิศิริ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 15,222 ครัวเรือน จำนวน 9,457 คน ทั้งเพศชายและหญิง โดยผู้หญิงเป็นกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-49 ปี จากการสำรวจข้อมูลจำนวนบุตรที่ผู้หญิงจะมีตลอดชีวิต พบว่า ในปี 2560 อยากมีบุตร 1.69 คน ลดลงจากปี 2544 อยู่ที่ 1.86 คน และเมื่อดูตามเขตที่อยู่อาศัย พบว่าเขตชนบทมีบุตรสูงกว่าเขตเมือง โดยเฉพาะปี 2560 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีจำนวนบุตรเฉลี่ยสูงสุด 2.3 คน ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนบุตรต่ำสุด 1.06คน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงมีภาวะมีบุตรยากถึง 16%
นอกจากนี้ ได้มีการสอบถามถึงความต้องการอยากมีบุตร หรือขนาดครอบครัวที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ทั้งที่มีสถานะโสดและมีครอบครัว ต้องการอยากจะมี ภาพรวมพบว่า ปี 2560 อยากมีบุตร 2 คน ลดลงจากปี 2544 อยากมีบุตร 2.4 คน เฉพาะผู้หญิงสถานะโสด ในปี 2560 กลุ่มคนโสดอายุ 15-34 ปีเป็นวัยที่ต้องการกระตุ้นให้อยากมีบุตร แต่กลับพบว่ามีความต้องการอยากมีบุตรอยู่แค่ 1.5 คน และลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และลดลงจากปี 2544 อยากมีบุตร 2 คน ทั้งนี้ ผู้หญิงไทยมีอายุเฉลี่ยในการสมรส ปี 2544 เฉลี่ยอายุ 22.7 ปี ส่วนปี 2560 เฉลี่ยอายุ 23.6 ปี
อายุ 35-39 เป็นโสดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงในเมืองมีอายุเฉลี่ยแรกสมรสสูงกว่าในชนบท โดยใน ปี 2560 พบว่าอายุเฉลี่ยของการสมรสของ ผู้หญิงในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอายุที่ 25 ปี ขณะที่จำนวนครั้งที่แต่งงาน พบว่าในปี 2544 สมรส 1 ครั้ง 90% และอีก 10% สมรสมากกว่า 1 ครั้ง แต่ผ่านมากว่า 10 ปีใน ปี 2560 พบว่า สมรส 1 ครั้ง 80% และ20% สมรสมากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่แนวโน้มของผู้หญิงที่ไม่แต่งงานและอยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้น คือช่วงอายุ 35-39 ปี
น.ส.วิราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สอบถามถึงทัศนคติของหญิงไทยต่อการสร้างครอบครัวและการมีบุตร พบว่าคนมีอายุมาก ให้ความสำคัญกับการมีลูกมากกว่าคนอายุน้อย,เมื่อยกตัวอย่าง ข้อความว่าไม่ต้องมีลูกก็มีชีวิตน่าพอใจได้ ส่วนใหญ่ 75% เป็นอายุน้อยที่เห็นด้วย,ขณะที่ 60% เห็นด้วยกับข้อความว่า "แม่ที่ทำงานนอกบ้านสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีอบอุ่น แน่นแฟ้นกับลูกได้เหมือนแม่ที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน"
ใช้ 5 กลไกกระตุ้นการมีบุตร
ขณะที่ นายนพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11-12 (2555-2564) มีการวางระบบกลไกไว้ แต่ประเทศไทยยังมีความหนืดในการบังคับใช้นโยบาย ทั้งนี้ กลไกนโยบายประชากร ต้องให้ความสำคัญกับ 5 กลุ่ม คือสนับสนุนเงิน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้บริการสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้สิทธิการลาแก่พ่อแม่ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน
ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์จะเป็น การลดต้นทุนการมีบุตร กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการมีบุตรซึ่งแนวทางเหล่านี้ประเทศไทยก็มีการดำเนินการอยู่ เช่น สิทธิประโยชน์ การจัดสถานที่เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ การแบ่งแยกบทบาทของผู้ชายและ ผู้หญิงยังไม่ชัดเจน ขณะที่ในต่างประเทศมีความเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ต้อง ระวังคือทุกครั้งที่มีการกำหนดนโยบายใด มักถูกมองเป็นนโยบายสวัสดิการ ดังนั้น จะทำอะไรต้องคำนึงถึงการเงิน การคลังของประเทศทั้งระยะสั้นและ ระยะยาวด้วย
วิกฤติ ศก.กระทบการมีบุตร
Prof.Doo-Sub Kim นายกสมาคมประชากรแห่งเอเชีย (Asian Population : APA) กล่าวปาฐกถาเรื่อง "การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมยุคเด็กเกิดน้อย นโยบาย ทางเลือก และแนวทางการรับมือสำหรับอนาคต" ว่า จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลต่อให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรุนแรง เพราะสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงตลาดแรงงาน และการลดชั้นทางสังคม
โดยจากการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน พบว่า เกาหลีใต้ อัตราวัยเจริญพันธุ์ของหญิงอายุ 25-29 ปีลดลง 7.8% ภายใน 2 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนอัตราเจริญพันธุ์รวมลดเหลือ 1.52 ในปี 2534 และ 1.45 ปี 2535 ขณะที่ไต้หวัน แม้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าแต่ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรุนแรงทันทีอยู่ที่ 1.77 และ 1.47 ในปี 2534 และ 2535 ส่วนหลังวิกฤตเศรษฐกิจภายใน 1 ปีพบว่าอัตราวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงอายุ 25-29 ปี ลดลง 21.1% สะท้อนว่าวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่อโครงสร้างปัจจัยของภาวะเจริญพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญใน 2 ประเทศ โดยภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดอยู่ในชนชั้นกลางระดับบน
"ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน ยุตินโยบายมุ่งลดการมีบุตร และมีนโยบายส่งเสริมการมีบุตร มีการศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งนี้ การออกนโยบายและมาตรการ ส่งเสริมการมีบุตรนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องพัฒนาแหล่งข้อมูล มีการวิเคราะห์แนวโน้มประชากรและประเมินประสิทธิภาพตามนโยบาย ควรจัดสรรงบประมาณทำสถานเลี้ยงดูเด็ก เงินเลี้ยงดูบุตรแรกคลอดเพื่อส่งเสริมการมีบุตร ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานให้มีความสมดุล ถ้านโยบายรัฐไม่ได้ผลต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม" นายกสมาคมฯ กล่าว