คนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 3.8 หมื่นคนต่อปี
คนไทยตายจากเชื้อดื้อยา 38,000 คนต่อปี สูงกว่าอเมริกา-ยุโรป หวั่นใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ตกค้างสิ่งแวดล้อมทำคนดื้อยาทางอ้อม สปสช.เตรียมชงบอร์ดดันร้านยาคุณภาพเข้าระบบประกันสุขภาพ หวังช่วยลดขั้นตอนรอคิวโรงพยาบาล-ประหยัดเงิน ผู้จัดการ กพย. แนะเสริมสร้างสุขภาพมากกว่าใช้ยาป้องกันโรค
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ วันรู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ : เป้าหมายการทำงานในอนาคต จัดโดย แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะเป็น 1 ใน 8 ประเด็นสำคัญทางสาธารณสุขของไทย เพราะเมื่อดูจากสถานการณ์การดื้อยาแล้วพบว่า ไทยประสบปัญหามากกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างชัดเจน โดยประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน มีคนตายจากเชื้อดื้อยาถึง 38,000 คนต่อปี ขณะที่สหรัฐฯมีประชากรราว 300 ล้านคน มีคนตายจากเชื้อดื้อยาเพียง 23,000 คนต่อปี ส่วนยุโรปประชากรกว่า 500 ล้านคน มีคนตายจากเชื้อดื้อยาเพียง 25,000 คนต่อปีเท่านั้น โดยการแก้ปัญหาต้องดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กพย. และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
"กรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ก็จะทำให้เกิดยาตกค้างภายในสิ่งแวดล้อม ทำให้เชื้อแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมมีโอกาสได้รับยาปฏิชีวนะ ทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น รวมถึงเมื่อคนไปรับประทานเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างก็ส่งผลให้เชื้อดื้อยาด้วย เรื่องนี้พยายามที่จะสร้างความเข้าใจว่ายาที่ยังมีประโยชน์ในคนก็ควรจำกัดให้ใช้ในคนก่อน ไม่ควรนำไปใช้ในสัตว์ เพราะคนยังจำเป็นต้องใช้ หากเกิดเชื้อดื้อยาขึ้นมาคนจะเดือดร้อน" นพ.ปฐม กล่าว
เขากล่าวต่อว่า การดูแลควบคุมการใช้ยาในสัตว์จะมีกฎหมายของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมกำกับอยู่ อย.ก็คงต้องทำงานร่วมกัน โดยจะต้องหาทางออกให้แก่เกษตรกรด้วยว่า หากจะจำกัดการใช้ยาที่ควรใช้ในคนก่อน และจะมีทางออกอื่นอะไรในการช่วยเหลือเกษตรกร
ด้าน นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้องดำเนินการในหลายส่วน ที่สำคัญคือต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้ยาให้เหมาะสมทั้งในระดับวิชาชีพ ประชาชน และนานาชาติ โดยเฉพาะประชาชนในเรื่องของการกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง โดยพบว่า คนที่กินยาได้ครบทั้งหมดตามที่แพทย์สั่งมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งการกินยาไม่ครบจำนวนบ่อยครั้งก็จะส่งผลให้เชื้อดื้อยาได้
นอกจากนี้ ยังต้องเร่งกำจัดยาปลอมด้วย โดยเฉพาะบริเวณแถบชายแดนทั้งลาว กัมพูชา ซึ่งมีการผสมยาปฏิชีวนะไม่ได้ขนาด หรือน้อยเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา เขาระบุว่า แนวทางหนึ่งที่ สปสช.จะเร่งดำเนินการคือการผลักดันร้านขายยาคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ดี จะมีการเสนอเข้าสู่บอร์ดสปสช.อีกครั้งหลังช่วงปีใหม่ 2558 โดยการผลักดันร้านยาคุณภาพที่มีเภสัชกรประจำร้านและให้คำแนะนำที่ดีแก่ประชาชนเข้าสู่ระบบหลักประกันฯ
"แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถควบคุมระดับความดัน ระดับน้ำตาลได้ดี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และโรคที่เภสัชกรสามารถให้คำแนะนำได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล แต่สามารถมารับยาได้ที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน ก็จะเป็นการประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย"
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัญหาการนำยาปฏิชีวนะมาใช้รักษาโรคพืชและผสมอาหารในสัตว์โดยอ้างว่าเพื่อรักษาโรคนั้น กฎหมายได้เปิดช่องเอาไว้ แต่ที่เป็นปัญหาคือไม่มีใครมาทำตามหลักเกณฑ์ หรือตรวจสัตว์ทีละตัวว่าตัวนี้ควรใช้ยาอะไรในการรักษา เพราะยุ่งยากลำบาก เนื่องจากทำเป็นระดับอุตสาหกรรมคือเลี้ยงจำนวนมาก เกษตรกรก็จะอาศัยฉีดพ่นไปทั่ว ผสมอาหารก็อาศัยผสมอาหารให้สัตว์กินไปทีเดียว โดยอ้างว่าเพื่อการรักษาป้องกันโรคไว้ก่อน
ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหา เพราะหากต้องการให้ยาปฏิชีวนะใช้ไปได้นานๆ ก็ต้องใช้ให้น้อยที่สุดและเหมาะสมที่สุด ประเด็นสำคัญคือ ต้องสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเสียก่อนเป็นด่านแรก ไม่ใช่ใช้ยามาช่วยป้องกันการเจ็บป่วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต