คนไทยสูบน้อยลง-เน้นป้องกันเยาวชนหน้าใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
คนไทยสูบบุหรี่ลดลงแต่โครงการรณรงค์ยังต้องไปต่อ หนุนชุมชนช่วยสร้างมาตรการสังคมลด-ละ-เลิก
วันนี้ (31 พ.ค.) คือวันงดสูบบุหรี่โลก และในปีนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการกำหนดคำขวัญการรณรงค์ว่า "Tobacco Break Hearts : Choice Health not Tobacco" หรือ "บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ"
พิษภัยของบุหรี่เป็นสิ่งที่พวกเรารู้ดี ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทั่วโลกมีคนตายจากโรคหัวใจประมาณ 9 ล้านคน และพิสูจน์ได้ว่าในจำนวนนี้ เกิดจากบุหรี่ 1.7 ล้านคน ขณะที่คนไทย 1.5 ล้านคนป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เสียชีวิตจากหัวใจวายในช่วงอายุ 50-60 ปี บุหรี่จึงเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ ทั้งในระดับบุคคล สังคมและประเทศชาติ เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังในหลายระบบ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือด ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในกิจกรรมวิ่ง "NoNo Fun Run 2018: My Heart is Running not Smoking" ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์งดสูบบุหรี่ว่า จากผลสำรวจล่าสุด ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบแนวโน้มการสูบบุหรี่คนไทยลดลง เล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1 หรือ 10.7 ล้านคน ลดลงจาก 2 ปีก่อนคือปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 19.9 โดยเป็นผู้สูบประจำ ร้อยละ 16.8 หรือ 9.4 ล้านคน
ทั้งนี้ เพศชายสูบบุหรี่ลดลงมากกว่าเพศหญิง โดยเพศชายลดเหลือ ร้อยละ 37.7 จากเดิม ร้อยละ 39.3 ขณะที่เพศหญิง ลดลงเหลือ ร้อยละ 1.7 จากเดิม ร้อยละ 1.8 ส่วนอายุของที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี จากเดิม 17.8 ปี
ผลสำรวจสะท้อนถึงแนวทางการทำงานควบคุมยาสูบจากหลายภาคส่วน และ สสส. ซึ่งจะเร่งดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการชักชวนให้เลิกสูบบุหรี่ ส่งเสริมการคัดกรองผู้สูบบุหรี่ ผู้ติดบุหรี่ให้เข้าสู่การบำบัด พร้อมทั้งทำงานคู่ขนานกับภาคนโยบาย ให้สามารถปฏิบัติและบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การจำกัดอายุผู้ซื้อ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ จะช่วยปกป้องสุขภาพคนไทยจากบุหรี่ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ผลการทำงานได้พบว่าชุมชนท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งกลไกในพื้นที่ ที่สามารถสร้างนวัตกรรม และสร้างมาตราการทางสังคมเพื่อช่วยลดการ สูบบุหรี่ได้ โดยใช้ 5 ปฏิบัติการสำคัญ คือ 1.สร้างบุคคลต้นแบบ 2.เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 3.สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ 4.เพิ่มกติกาทางสังคม 5.บังคับใช้กฎหมาย ผ่าน 3 กลยุทธ์ประกอบด้วย
1.การสร้างนักรณรงค์ จิตอาสา ที่ทำหน้าที่ในการสร้างการรับรู้ และ สร้างความตระหนัก ถึงพิษภัย และ ผลกระทบจากการบริโภคยาสูบ
2.การเสริมทักษะ เสริมความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัย โทษของการบริโภคยาสูบ ให้กลุ่มนักสูบน่าเดิมเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก และป้องกันไม่ให้เกิด นักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
3.การสร้างการมีส่วนร่วม เป็นปฏิบัติการของการรวมตัว ร่วมกัน อาทิ เครือข่ายผู้นำชุมชนไม่สูบบุหรี่ เครือข่าย อสม.ไร้ควัน เครือข่ายบ้านไร้ควัน กลุ่มเยาวชน รวมถึงร่วมกันกำหนดมาตรการควบคุมในพื้นที่ กำหนดจุดห้ามสูบ
นอกจากนี้สังคมไทยยังต้อง เผชิญกับความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ว่าด้วยเรื่องบุหรี่ อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังผิดกฎหมาย แต่ก็ได้รับความนิยมและมีข้อเรียกร้องให้ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ