คนไทยสร้างขยะวันละ 4 หมื่นตัน

เผยคนไทยสร้างขยะวันละ 4 หมื่นตัน กว่า 7 พัน อปท. มีระบบกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพแค่กว่า 100 แห่ง ปลุกท้องถิ่นรวมพลังสร้างชุมชนปลอดขยะ เปลี่ยนพฤติกรรม จัดการขยะชุมชน เชื่อท้องถิ่นทำได้


คนไทยสร้างขยะวันละ 4 หมื่นตัน thaihealth


นายพิรียุตย์ วรรณพฤกษ์ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวในงาน“เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม ครั้งที่  5 ประจำปี 2558”  ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิชาการ ประเด็น “ชุมชนปลอดขยะ ท้องถิ่นต้องทำได้”ว่า ปัจจุบันการบริโภคของคนในสังคมเมืองและชนบทมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน คือ ซื้ออาหารที่บรรจุถุงพลาสติกและจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อขยะ โดยสถิติของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า คนไทยผลิตขยะประมาณ 4 หมื่นตันต่อวัน เมื่อสำรวจในระดับท้องถิ่นพบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่มีระบบกำจัดขยะที่ได้ประสิทธิภาพถูกต้องประมาณก 100 แห่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีอปท.ถึง 7 พันแห่งทั่วประเทศ แต่บางแห่งยังไม่มีพื้นที่จัดการขยะด้วยตนเอง รัฐบาลจึงเสนอการจัดการปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ เป็นที่มาของ Roadmap การจัดการขยะที่กำลังจะเกิดขึ้น และเชื่อว่า ปัญหาการจัดการขยะเป็นหน้าที่สำคัญของท้องถิ่นต้องร่วมมือกันไม่ใช่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น


นายคมสัน หุตตาแพทย์ มูลนิธิสื่อเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า  การจัดการขยะไม่ใช่งาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ สำนึก ความรับผิดชอบ และหน้าที่ ขอเสนอการแก้ปัญหาตาม Roadmap การจัดการขยะ โดย ยุทธศาสตร์ที่ 1.คือ ทุกชุมชน ทุกบ้านป้องกันไม่ให้เกิดขยะ จากจิตสำนึกก่อน 2.ลดภาระขยะด้วยตนเองก่อน ไม่ปล่อยขยะไปสู่คนอื่น ทั้งเทศบาลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 3. ใช้ของให้คุ้มค่าที่สุด ก่อนที่จะทิ้ง และสุดท้ายขอฝาก เรื่องพลังงานเชื่อมโยงกับขยะ โดยนำขยะกลับมาเป็นพลัง เป็นการพึ่งตนเองเรื่องพลังงานให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน


คนไทยสร้างขยะวันละ 4 หมื่นตัน thaihealth


ด้านนางธัญญา แสงอุบล ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนวิชาการเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ กล่าวถึง Roadmap การจัดการขยะว่า ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้น 26.8  ล้านตันต่อปี จากปริมาณขยะจำนวนมากทำให้ปัญหาขยะส่งผลต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม  ถือเป็นสถานการณ์ปัญหาทั้ง ระดับบุคคล จากพฤติกรรมส่วนตัว มาสู่ระดับครัวเรือน ที่ไม่มีการคัดแยกขยะ ส่วนระดับชุมชน ไม่มีการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรม และระดับหน่วยงานองค์กรท้องถิ่น ก็กังวลเรื่องพื้นที่จัดการขยะ   ความตั้งใจของรัฐบาลในการจัดการขยะ จากผ่านความเห็นชอบของคสช. เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.การเร่งการจัดการขยะมูลฝอยตกค้างตามสถานที่ต่างๆ เป็นวาระเร่งด่วนใน 6 เดือน 2. การสร้างรูปธรรมการจัดการขยะแบบใหม่ อาทิ หมุนเวียน ใช้ซ้ำ 3. ออกกฎเกณฑ์ กติกาควบคุมการเกิดขึ้นของขยะที่อาจมากขึ้นในอนาคต และ 4. การสร้างจิตสำนึกของทุกคนซึ่งเป็นแผนระยะยาวต่อไป


“เราต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล การสร้างมาตรการในการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน การร่วมกันแปรูปหรือจัดการขยะของหน่วยงานในชุมชน เช่น ใน โรงเรียน มีการทำเรื่องการคัดแยกขยะ กองทุนขยะ ธนาคารขยะ หรือการผลิตของใช้จากขยะ รวมถึงถนนปลอดขยะ ตลาดนัดขยะ หรือ โรงคัดแยกขยะของชุมชน เพื่อสร้างมูลค่า และสามารถนำเงินมาเป็นทุนในการจัดสวัสดิการของชุมชนรูปธรรมดังกล่าวนี้จะสามารถขยายผลและสร้างความตระหนักในการจัดการขยะทุกระดับ ซึ่งหากดำเนินการประสบผลสำเร็จจะทำให้เกิดทางเลือกในการจัดการขยะที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที และจะส่งผลกระทบต่อการลดปริมาณขยะจากระดับชุมชนสู่ระดับจังหวัดและระดับประเทศได้”นางธัญญา กล่าว


 


 


ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code