คนไทยป่วยโรคระบบประสาทและสมองเพิ่มขึ้น

คนไทยป่วยโรคระบบประสาทและสมองเพิ่มขึ้น thaihealth


แฟ้มภาพ


คนไทยป่วยโรคระบบประสาทและสมองเพิ่มขึ้น ชี้มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียน ชาตามมือเท้า ให้รีบพบแพทย์ทันที ระบุหากทิ้งไว้นานหรือรักษาช้า อาจเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ แนะกินดีมีประโยชน์ ออกกำลังกาย ไม่เครียด ลดความเสี่ยงการเกิดโรค


นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สมองและระบบประสาทเป็นอวัยวะที่มีความความสำคัญ เนื่องจากสมองเป็นศูนย์รวมของระบบประสาทที่ควบคุมกลไกต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานร่วมกับการควบคุมความคิด ความจำ และการเรียนรู้ ตอบสนองด้วยการสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสมองหรือระบบประสาท ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ คนไทยป่วยด้วยโรคระบบประสาทเพิ่มขึ้น จากสถิติสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พบว่า โรคระบบประสาทที่พบมากที่สุดในปี 2557 คือโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 24,399 ราย โรคทางเส้นประสาท จำนวน 17,319 ราย และโรคกล้ามเนื้อ จำนวน 13,445 ราย


นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และผู้สูบบุหรี่จัด อาการคือแขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีกหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัว ปวดศีรษะเฉียบพลัน หากมีอาการควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด สำหรับแนวทางลดความเสี่ยงโรค คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด ไขมันสูง ควบคุมความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ส่วนโรคทางเส้นประสาท เช่น โรครากประสาทคอ เกิดจากการถูกกดเบียดหรือการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวตามรากประสาท เช่น ปวดต้นคอร้าวไปที่สะบัก ไหล่ ชาแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีการรับความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนจากการที่เลือดไปเลี้ยงรากประสาทลดลง การป้องกันคือ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่คอ เช่น การเคลื่อนไหวที่รุนแรงบริเวณคอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่มีการปะทะรุนแรง รวมไปถึงระวังอุบัติเหตุจากการขับยานพาหนะ เป็นต้น


"สำหรับโรคกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังคดออกมาจากแนวกระดูกสันหลังจนไปเบียดทับกับเส้นประสาทรอบๆแนวกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเป็นๆ หายๆ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง การดูแลเบื้องต้นผู้ป่วยควรฝึกใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันให้ถูกวิธี หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ เลี่ยงการยกของหนัก งดการสูบบุรี่ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง ออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้อง จะสามารถบรรเทาอาการของโรคได้" นพ.ณรงค์ กล่าว


นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะมาก อาเจียน และชาตามมือตามเท้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรมีการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะมีผลกระทบบริเวณศีรษะและไขสันหลัง เพราะอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน ทานผักที่บำรุงสายตา ไม่อ่านหนังสือในที่มืด พักผ่อนให้เพียงพอ มีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เดินเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว จะป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคดังกล่าวได้


 


 


ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ