คนไทยขาดวิตามินบี 1
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
สธ.เตือนประชาชนระวังโรคขาดวิตามินบี 1 อันตรายถึงเสียชีวิต แนะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
จากกรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงสาธารณสุข ต้องทำงานในเชิงรุกกรณีคนไทยขาดวิตามินบี 1 จนทำให้เป็นอัมพาต และในบางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ พบตัวเลขอัมพาต 80 คน ที่ จ.บึงกาฬ ปลายปี 2557-2558 เสียชีวิต 3 คน ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดวิตามินบี 1 โน้มนำให้เกิดภาวะติดเชื้อและหัวใจวายตาย และต่อมายังพบที่สงขลา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เสียชีวิต 3 คน
และล่าสุดต้นปี 2559 ที่ จ.ระนอง เสียชีวิตอีก 6 คน โดย จ.ระนอง พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักอีก 6 คน แต่เมื่อได้รับการรักษาด้วยการให้วิตามินบี 1 ก็สามารถรอดมาได้ เช่นเดียวกับที่ จ.บึงกาฬ 80 คน ขณะนี้ก็ปลอดภัยและเดินได้ปกติ และยังระบุอีกว่าต้องแก้ไขเป็นเรื่องสำคัญอย่างจริงจัง โดยไม่ได้ใช้งบมาก ขอให้มีการบอกกล่าวประชาชนในเรื่องการรับประทานอาหารที่ถูก มีวิตามินให้ ทั้งนี้ ได้มีการเสนอผ่าน อย.เมื่อเดือนมกราคม 2016 ให้ปรับขนาดวิตามินบี 1 เป็น 100 มก.ต่อเม็ด และให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ใช่ซื้อเอง แต่ยังไม่มีการตอบรับ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีลูกเรือตายที่ระนองตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศลงไปสอบสวนกับ Green Peace สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งนายตำรวจมาสอบสวนหมอ และให้ปากคำ ลงบันทึก ถ่ายรูป พร้อมให้ผลทางห้องแล็บจาก รพ.จุฬาฯ ว่านี่คือการขาดวิตามินบี 1 และไม่ใช่การทารุณแรงงาน แต่เป็นในคนไทยทั่วไป เมื่อออกกำลังมาก กินอาหารที่ทำลายบี 1 เช่น ปลาร้า ก็มีโอกาสเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 และยิ่งหากไม่มีการเติมบี 1 เข้าร่างกาย โดยปกติร่างกายจะสะสมและนำมาใช้ ซึ่งเฉลี่ยวิตามินบี 1 จะหมดจากร่างกายไปภายใน 30 วัน
“ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่คิดว่าขาดวิตามินบี 1 ควรเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มในเรื่องวิตามินบี 1 ตามธรรมชาติก่อน และสำหรับผู้ที่เป็นโรคที่ทำให้ขาดวิตามินบี 1 และกำลังใช้ยาดังกล่าวอยู่ อาจจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของตัวยา เช่น อาหารสุกๆ ดิบๆ เมี่ยง ชา กาแฟ เป็นต้น ก็จะช่วยในเรื่องการขาดได้” ภก.ประพนธ์กล่าว
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น กลุ่มลูกเรือประมงที่ต้องออกจับปลาในทะเลมหาสมุทรนานเป็นเดือน โดยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงในกลุ่มลูกเรือประมงหลายเหตุการณ์ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานไปยังสำนักงานประมงและสมาคมประมงในแต่ละจังหวัด แนะนำผู้ประกอบการประมงเตรียมความพร้อมก่อนออกเรือประมง โดยให้จัดเตรียมอาหารทดแทนวิตามินบี 1 เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ นำขึ้นไปเก็บสำรองไว้บนเรือด้วย
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า การขาดวิตามินบี 1 เป็นภาวการณ์ขาดวิตามินที่มีความสำคัญ เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไป หากขาดวิตามินบี 1 จะเริ่มต้นด้วยการมีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูก เป็นตะคริวบ่อยขึ้น หากมีอาการรุนแรงจะทำให้มีอาการแขน-ขาไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบเหนื่อย หัวใจโต หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี ภาวะขาดวิตามินบี 1 สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารวิตามินบีสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช อาทิ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ เป็นต้น
"ในประชาชนทั่วไป สาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามินบี 1 มีหลายสาเหตุ พบได้ในผู้ที่ออกกำลังมาก หรือกินอาหารที่ทำลายวิตามินบี 1 เช่น อาหารดิบๆ ภาวะติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างที่สูญเสียวิตามินบี 1 เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง ไตวาย ที่ต้องล้างไต ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ต้องได้รับการเสริมวิตามินบี 1 ซึ่งในบัญชียาหลักมีทั้งชนิดรับประทานขนาด 10-100 มิลลิกรัม ชนิดฉีด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร"
ล่าสุด ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในเรื่องที่มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดำเนินการในเชิงรุกเกี่ยวกับการเพิ่มวิตามินบี 1 เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ต้องบอกก่อนว่า วิตามินบี 1 ขนาด 10-100 มก. ทั้งประเภทกินและประเภทฉีด มีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2540 และยาตัวดังกล่าวมีใช้อยู่ในโรงพยาบาลรัฐทุกโรงพยาบาลและในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถซื้อไปใช้ได้ อีกทั้งยาตัวนี้มีราคาค่อนข้างถูก มีขายทั่วไปตามร้านขายยาผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 ธ.ค. ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติ ก็ไม่มีประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้