คนใช้บริการสายด่วนเลิกบุหรี่กว่า7 หมื่นสาย
แฟ้มภาพ
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 กล่าวว่า การช่วยเหลือให้ประชาชนเลิกบุหรี่ด้วยการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ถือเป็นวิธีที่ได้ผลไม่น้อยไปกว่าการเลิกบุหรี่ด้วยยา และจะยิ่งดีขึ้นหากใช้วิธีการให้คำปรึกษาควบคู่ไปกับการใช้ยา
จากการดำเนินงานพบว่า มีประชาชนมาใช้บริการขอคำปรึกษาเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่แคมเปญโฆษณารณรงค์ทางโทรทัศน์เกี่ยวกับโทษหรืออันตรายจากบุหรี่ โดยโฆษณาถือเป็นสื่อที่ทำให้ประชาชนเห็นทั้งภาพและเสียง ส่งผลทั้งต่อตัวผู้สูบ และผู้ไม่สูบ ทำให้เกิดความตระหนักที่อยากจะเลิกสูบบุหรี่
รวมทั้งอยากให้คนใกล้ชิด คนที่รักเลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเมื่อโฆษณามีภาพของผู้ป่วยด้วยโรคจากบุหรี่ และตอกย้ำเบอร์สายด่วนช่วยเลิกบุหรี่ ก็จะมีสายที่โทรคำมาขอคำปรึกษาเพิ่มขึ้นในช่วงนั้นๆ เกือบเท่าตัว
รศ.ดร.จินตนา กล่าวว่า จากการให้บริการของสายด่วน 1600 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2558 มีประชาชนโทรมาขอคำปรึกษา 71,109 สาย เฉลี่ยเดือนละ 9,000 กว่าสาย เฉพาะช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการออกโฆษณาโทรทัศน์ชุด ความสูญเสียจากบุหรี่ “คนใหม่” มีคนโทรมาขอใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 15,899 สาย และ 10,448 สาย ตามลำดับ ส่วนใหญ่ทราบช่องทางการบริการจาการดูโฆษณาทั้งด้วยตนเอง หรือญาติ คนใกล้ชิดแนะนำ
รวมทั้งคนที่ไม่สูบโทรมาขอคำปรึกษาให้คนใกล้ชิดด้วย ทุกครั้งที่มีโฆษณารณรงค์เตือนถึงพิษภัยของบุหรี่ จะต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้นทันที ดังนั้น ยืนยันได้ว่า โฆษณาส่งผลกระทบต่อทั้งผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเน้นข้อความว่า “อยากเลิกบุหรี่ให้โทรปรึกษาสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” และการเพิ่มคำเตือนลงบนซองบุหรี่และเบอร์สายด่วนช่วยเลิกบุหรี่ ทำให้ประชาชนรับทราบช่องทางการเลิกบุหรี่มากขึ้น
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. มีการการวิจัยเชิงคุณภาพถึงประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณารณรงค์ทุกครั้ง เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด เช่นเดียวกับแคมเปญ ความสูญเสียจากบุหรี่ “คนใหม่” ได้ทำวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และอุดรธานี อายุ 16-45 ปี จำนวน 40 คน เพื่อศึกษาพฤติกรรม สาเหตุแรงจูงใจ ทัศนคติของการซื้อบุหรี่มวนเอง (ยาเส้น) และบุหรี่ซอง และประเมินแนวทางสื่อสารที่ประสิทธิภาพต่อการลดละเลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่มวนเอง และบุหรี่ซองมากที่สุด
ผลวิจัยพบว่า โฆษณาได้สร้างความตระหนัก และทำให้คิดลดละเลิกสูบบุหรี่มากที่สุด เพราะสื่อโฆษณาพูดเหมือนกับสิ่งที่คิดคือ “สูบคนเดียวไม่เห็นเดือนร้อนใคร” แต่กลับให้แง่มุมคิดใหม่ว่า การสูบบุหรี่ของตนเองอาจสร้างความทุกข์ให้คนที่เขารัก และกลุ่มตัวอย่างไม่อยากนอนป่วยบนเตียงแบบในโฆษณา
นอกจากนี้ได้สำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่เดือน ต.ค. 2558 จำนวน 255 คนที่เคยเห็นโฆษณาชุด คนใหม่ โดยร้อยละ 73 ระบุว่าโฆษณาทำให้อยากสนับสนุนการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ และร้อยละ 78 เห็นด้วยว่าโฆษณาทำให้รู้สึกว่าควรเลิกบุหรี่เพื่อคนที่คุณรัก
“การที่สังคมไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ การถูกมองอย่างรังเกียจจากคนรอบข้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อยากลดละเลิกการสูบบุหรี่ หลังจากสสส. เผยแพร่โฆษณาชุด “คุณมาทำร้ายฉันทำไม” สามารถสร้างบรรทัดฐานของสังคมในการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะขึ้น ซึ่งผลสำรวจทัศนคติของประชาชนโดยทั่วไป จำนวน 704 ตัวอย่าง ร้อยละ 88 เห็นด้วยว่า การสูบบุหรี่/ยาเส้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนรอบข้าง และในทางกลับกัน ผู้สูบกว่าร้อยละ 74 เห็นด้วยว่า การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นการรบกวนคนอื่น ซึ่งนับเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทย” น.ส.สุพัฒนุช กล่าว
ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร กล่าวว่า สสส. ทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับอันตรายและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ โดยใช้การสื่อสารทุกรูปแบบกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจประเด็นนั้นๆ โฆษณาถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการรณรงค์ เพราะโฆษณาสามารถกระตุ้น และมีพลังที่จะจุดกระแสสังคมในวงกว้าง
แต่การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติคนในสังคม จำเป็นต้องสร้างกระแสให้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จำเป็นต้องมีกลไกอื่นเสริมควบคู่ไปกับโฆษณา อาทิ การขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนางานวิจัย งานวิชาการ และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ สสส. ได้ดำเนินการมาตลอด
ที่มา: มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ