คนเมืองรู้จักผักแค่ 8 ชนิด เหตุกินผัก ผลไม้น้อยลง
สสส. ผนึกเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร จัดเทศกาลกินเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 1 เปิดพื้นที่อาหารปลอดภัย-อาหารท้องถิ่นเพื่อความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหาร เหตุคนไทยในเมืองรู้จักผักแค่ 8 ชนิด เหตุกินผัก ผลไม้น้อยลง พบสารเคมีปนเปื้อนในสินค้าการเกษตรสูง ห่วงคนไทยมีภาวะอ้วน 17 ล้านคน 40% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แนะต้องเร่งฟื้นระบบอาหารปลอดภัย
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่สวนสันติชัยปราการ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานพิธีเปิดงาน “เทศกาลกินเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 1” Taste of food มีขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ส.ค. นี้ จัดโดย มูลนิธิชีววิถี (BioThai) แผนงานความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยมีร้านค้า เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการด้านสินค้าการเกษตร มาร่วมจัดนิทรรศการ และออกร้านเกือบ 20 ร้านจากทั่วประเทศ
โดยรศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2561 ดัชนีของราคาอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งจะกระทบต่อความมั่งคงทางอาหาร ซึ่งประเทศไทยเริ่มประสบกับปัญหาราคาอาหารแพงมาระยะหนึ่ง และพบว่ายังมีปัญหาโภชนาการด้วย จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด พบว่า มีคนไทยอ้วนมากกว่า 17 ล้านคน โดยเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 12 ปี จะมีความอ้วนสูงถึง 40% ในจำนวนนี้เมื่อเจาะหาไขมันในร่างกายพบ 70% มีปัญหาไขมันสูงเกินมาตรฐาน สถานการณ์นี้ทำให้แต่ละปีต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคปีละหลายแสนล้านบาท
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากการสำรวจของพบประชาชนอาศัยในเขตเมือง รู้จักชนิดของผักเพียง 8 ชนิด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่เลือกรับประทานผัก ผลไม้ น้อยลง และหันไปรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วนแทน นอกจากนี้ ยังพบว่า ปริมาณการบริโภคผัก ผลไม้ ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยกินเพียง 3 ส่วน จาก 5 ส่วน โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนบริโภคผักเพียง 2 ส่วนเท่านั้น ขณะที่สินค้าทางการเกษตรมีการใช้สารเคมีทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และเกิดปัญหาปนเปื้อนในผักผลไม้ ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากการสำรวจโดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่าเกษตรกรไทย 60% มีสารปนเปื้อนตกค้างในกระแสเลือดแสดงถึงการใช้สารเคมีจำนวนมาก
“ความปลอดภัยของอาหาร และโภชนาการที่ดีจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย และอร่อย โดยเลือกรับประทานอาหารจากท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย และมีราคาไม่แพง ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า “จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร” (from farm to table) ที่ผู้บริโภคจะไม่ถูกทำลายสุขภาพ เกษตรกรรายย่อยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และระบบอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยให้ได้” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ดังนั้น สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้จัดเทศกาลกินเปลี่ยนโลกขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการรายย่อย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความเข้าใจระบบนิเวศอาหารที่หลากหลาย เพื่อสร้างการตระหนัก และรับรู้เรื่องอาหารปลอดภัยให้แก่ประชาชน
สำหรับกิจกรรมน่าสนใจงาน ได้แก่ นิทรรศการเส้นทางกะปิ นำเสนอกระบวนการผลิตกะปิแบบธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ระยะทางของผัก นำเสนอระยะทางตลอดการเดินทางของผักจากแปลงสู่ปากผู้บริโภค และสวนผักคนเมือง City Farm ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนเมืองหันมาปลูกผักที่สดสะอาดปลอดภัยไว้กินเอง รวมถึงซุ้มฝึกลิ้น ที่จะชวนชิมอาหารเปรียบเทียบรสระหว่างอาหารสดเครื่องปรุงรสน้อย ๆ กับอาหารปรุงรส ปรุงแต่งอย่างหนัก เพื่อให้รู้จักและแยกรสต่างๆ ของอาหารได้ โดยระหว่างงานจะมีผู้ผลิตจากหลากหลายระบบนิเวศเข้าร่วม ทั้งเกษตรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ ที่จะยกตลาดผักอินทรีย์มาถึงกรุงเทพฯ และเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ ที่พาข้าวอินทรีย์หลากสายพันธุ์ และน้ำพริกสารพัดรสชาติ มาให้เลือกสรรกันแบบจุใจ
ที่มา : สำนักข่าว สสส.