คนเชียงของแห่ทำบุญ ขบวนธรรมยาตราฯ

 

คนเชียงของแห่ทำบุญในขบวนธรรมยาตราฯ คึกคัก คนท้องถิ่นร่วมระลึกอดีตวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงอันเรียบง่าย   พระ-ฆราวาส ห่วงกระแสทุนนิยมทำวัฒนธรรมเดิมหาย หลังพบที่ดินราคาพุ่งไร่ละ 6 ล้าน หวั่นคนหลงวัตถุ ลือรากเหง้า เร่งใช้ธรรมะ ให้ความรู้ด้านพิธีกรรมทางธรรมชาติและศาสนา กันคนรุ่นใหม่ลืมพื้นเพ

เมื่อวันที่ 23  มกราคม ที่บ้านหัวเวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในงานเดินธรรมยาตรา เพื่อแม่น้ำโขง ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่  18-27  มกราคม  2556   โดยเดินธรรมยาตราจาก อ.เชียงแสน ถึงบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น เป็นระยะทางรวม 117 กิโลเมตร  คณะธรรมยาตราที่ประกอบไปด้วยพระภิกษุสงฆ์ นักปฏิบัติธรรม เครือข่ายภาคประชาชน  ข้าราชการ  และนักเรียน รวมเกือบ 400 คน  ได้ออกเดินทางจากบ้านหัวเวียง อ.เชียงของ มุ่งหน้าสู่  บ้านปากอิงใต้  อ.เชียงของ เป็นระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร  โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ร่วมต้อนรับและทำบุญตักบาตรกันอย่างพร้อมเพียง

นายพิชัย อินโน ชาวอำเภอเชียงของ กล่าวว่า  ทราบข่าวการจัดธรรมยาตรามาตั้งแต่ต้นเดือน มกราคม  ซึ่งตนเคยได้ร่วมทำบุญ เมื่อครั้งเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา จัดธรรมยาตราครั้งที่หนึ่ง มาแล้ว และเมื่อทราบข่าวการจัดครั้งที่ 2 จึงได้เข้าร่วมอีกครั้ง โดยได้เตรียมสิ่งของไว้สำหรับทำบุญตั้งแต่เช้ามืด สำหรับพระภิกษุสงฆ์และสามเณร 100 รูป จากปกติจะเตรียมของสำหรับทำบบุญเวลาเช้าแค่ 5 ชุด

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ทราบดีว่า การเดินขบวนธรรมยาตราครั้งนี้เป็นการเดินขบวนเพื่อแม่น้ำโขง เป็นการเชื้อเชิญ ประชาสัมพันธ์ให้พุทธศาสนิกชน เข้าใจธรรมชาติและรู้คุณแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงหลายชีวิต  แม้ว่า ตนจะไม่มีเวลามากพอจะเข้าร่วมขบวนเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ตนก็ระลึกเสมอว่า ขณะนี้สถานการณ์แม่น้ำโขง นั้นเป็นอย่างไร เพราะเป็นคนในพื้นที่ก็เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด  โดยสมัยเด็ก เราโตมากับแม่น้ำโขง เห็นผู้ใหญ่ล่องเรือไปที่แถวๆ คอนผีหลง ไปล่องเรือล่าปลาบึกเพื่อมาประกอบอาหาร และพาสักการะผาพระ ครั้งนั้นยังจำได้ว่า แม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์มากๆ พี่น้องจากฝั่งลาว ข้ามไปมา ด้วยเรือ  เพื่อทำการประมงพื้นบ้าน อยู่กันอย่างพอเพียง  ขณะที่ชาวบ้านต่างอำเภอก็เคยล่องเรือนำข้าว ผัก  ผลลไม้ป่า  มาแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ อ.เชียงของ และอำเภอเวียงแก่น แต่พอแหล่งทุนเริ่มเข้ามา ขณะนี้กลับพบเจอปัญหาสารพัด อาทิ  การระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ของจีน การสร้างบ่อนเพื่อสนองตอบกิเลส การหายไปของเยาวชนกับระบบศาสนา  การแปลงที่ดินเป็นเงินทุน หลังกระแสการท่องเที่ยวที่ทำให้ที่ดินราคา 3-4 แสนกลายเป็นราคา 5-6 ล้าน กลับสร้างความบอบช้ำให้ทุกชีวิตริมน้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นคนรุ่นเก่า จึงเลือกที่จะพึ่งศาสนาและธรรมะ เพื่อคงไว้ซึ่งรากเหง้าของคนเชียงของแล้วร่วมอธิษฐานจิต เพื่อให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นแก่แม่น้ำอันมีพระคุณก็เท่านั้น

ด้านพระครูสุจิณวรคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสภณจริยธรรมวิทยา อ.เชียงของ กล่าวว่า อ.เชียงของ ในขณะนี้เป็นดั่งเมืองเศรษฐกิจเมืองใหม่ที่กำลังจะก้าวสู่อาเซียน  เศรษฐีใหม่ที่เป็นนายทุน จึงค่อนข้างจะหลงไปกับรายได้ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงนี้ นายหน้าค้าที่ดินกำลังมีกำไรมหาศาล  การขนส่งแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว   จนบดบังความเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ หลายคนจึงระเริงและหลงไปกับกระแสดังกล่าว แต่สิ่งเดียวที่จะช่วยยับยั้งจิตใจของคนเชียงไม่ให้ไหลไปกับความเปลี่ยนแปลงทางทุนนิยม คือ หลักธรรมะ  ความมั่นคงทางศาสนา ที่มีภาพของชาวพุทธ ผู้ศรัทธายังคงใช้ชีวิตแบบหยั่งรู้และระลึกถึงความจริง แต่ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่เริ่มหายไปจากการเข้าถึงศาสนา และธรรมะ พวกเขาไม่เชื่อหลักการ หรือ ตำราที่ระบุวิธีการใดๆ  แต่พวกเขาจะเชื่อก็ต่อเมื่อเห็นความจริง ว่า ศาสนาช่วยให้คนมีสติได้ การทำสมาธิ แม้เดิน นั่ง นอน ทุกอย่างย่อมสร้างความรู้  ดังนั้น การที่จะเชิญชวนให้เยาวชนเข้าใจได้ ต้องแสดงออกทางความจริง โดยเฉพาะความจริงที่ว่า ธรรมชาติ สายน้ำ ป่าไม้ คือ ผู้มีพระคุณ ที่ว่า แม่น้ำ คือ ผู้หล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากทุกคนเข้าใจ แม้กระแสวัตถุนิยมจะมากเพียงใด ย่อมไม่มีใครต้องการออกห่างธรรมชาติ อย่างแน่นอน

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า การเดินขบวนธรรมยาตรา ไม่ใช่แค่การสอนธรรมะ ด้วยการกำหนดลมหายใจ การเดินพิจารณา แต่มีการแทรกพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การสืบชะตาแม่น้ำ การเจริญภาวนา ริมแม่น้ำ การแสดงธรรมเสวนา ฯลฯ ล้วนสร้างความรู้ แก่ผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น คนเคยรู้ก็ รู้เพิ่มเติม คนไม่เคยรู้ ได้รู้ การเชิญชวนพุทธศาสนิกชน เพื่อประกอบพิธีดังกล่าว ล้วนเป็นการกระจายข้อมูลทั้งทางธรรม และทางธรรมชาติ ทั้งสิ้น  ซึ่งในทุกวันของการเดินขบวน คณะฯ  พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ใกล้ เคียง จะได้มีส่วนร่วมเสมอ

 

 

ที่มา : โครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบ

Shares:
QR Code :
QR Code