คนรุ่นใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟนเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส.


คนรุ่นใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง thaihealth


อย่างที่ย้ำกันนักหนาอยู่หลายครั้งเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ของประเทศเพื่อให้เติบโตพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการนำพาบ้านเมืองไปในอนาคต


เพราะแค่ "ความเก่ง" ในห้องเรียนไม่เพียงพออีกต่อไป เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันจุดประกายให้เด็กรุ่นใหม่เกิดจิตสำนึกเห็นแก่สังคมส่วนรวม โดยเฉพาะการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างเช่นหลักสูตรที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ คือ การสร้างจิตสำนึกใหม่ หลักคิด หลักวิเคราะห์ คุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคมสุขภาวะกับการปฏิบัติการจิตอาสาร่วมกับชุมชนชายขอบ ภายใต้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่นที่ 3 จัดโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และการเติบโตทางความคิด ทักษะและจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง เปิดรับ เรียนรู้ ผ่านกระบวนการกลุ่มและการลงมือทำงานร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงโครงสร้างทางสังคมในหลากหลายมิติ อีกทั้ง ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสลงไปเรียนรู้สภาพความเป็นจริงในสังคม ได้สัมผัสเรียนรู้เรื่องราวด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองกับชุมชนชายขอบ ที่บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม


ศิริพร ฉายเพ็ชร ผู้ประสานงานโครงการฯ เผยว่า กระบวนการเรียนรู้หลักสูตรที่ 2 ได้ตั้งโจทย์เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ จำนวน 40 คนหาคำตอบลงลึกถึงชีวิตก้นบึ้งของสังคมโดยให้โอกาสเรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่จริงใน 7 ประเด็นสังคม ได้แก่ HIV/เอดส์ พนักงานบริการ สิทธิและการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อ ระบบหลักประกันสุขภาพ ตะลุยโลกยามราตรีแสงสีของพัฒน์พงศ์, แรงงานข้ามชาติ ประเด็นปัญหาระดับชาติ สถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ, คนรุ่นใหม่ก้าวพลาด เยาวชนกลุ่มเสี่ยงบ้านกาญจนาภิเษกศูนย์รวมไว้ซึ่งทุกปัญหาที่เกิดจากผู้ใหญ่และสังคม, คนจนเมือง คนไร้บ้าน ร่วมกินร่วมอยู่ร่วมนอนบทพิสูจน์ทุกคนมีความเป็น "คน" เท่าเทียมกัน, เมืองกับสิ่งแวดล้อมสิทธิในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สัมผัสชีวิตชาวนาการเกษตรที่หลากหลาย ความพยายามในการรักษาฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชุมชน, นักโทษทาง ความคิดกับผู้ลี้ภัยเรียนรู้เข้าใจประวัติศาสตร์สถานการณ์ทางการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบัน และ คนพิการ  รัฐสวัสดิการ กลุ่มคนที่ถูกลืม


"นี่คือยุคของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความคิดที่ทันสมัยเปิดกว้าง รับอะไรได้มากกว่า ในเมื่อเขามีศักยภาพมีความคิด ความเข้าใจมีความกระตือรือร้นเป็นพลเมืองที่พร้อมทั้งกายใจ แต่โครงสร้างกลไกอำนาจและพื้นที่ทางสังคมกลับ ไม่เปิดในทางปฏิบัติทางโครงการฯ เราจึงต้องสร้างพื้นที่ขึ้นมารองรับตรงนี้ โดยจำลองสังคมให้คนรุนใหม่ได้ทดลองปฏิบัติจริงตามศักยภาพและสถานการณ์ทางสังคมโดยพื้นที่นี้จะให้เป็นพื้นที่เปิดให้อำนาจ พลังการมีส่วนร่วม และโอกาสในการเรียนรู้ลงมือทำปะทะสังสรรค์กับเพื่อนคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนในสังคมตามประเด็นต่างๆ" ศิริพรกล่าว


และเพื่อให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาฟื้นฟูคุณค่าและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ จึงเกิดหลักสูตรดังกล่าวขึ้นโดยหวังจะสร้างจิตสำนึกใหม่ หลักคิด หลักวิเคราะห์คุณค่า และการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคมสุขภาวะกับการปฏิบัติการจิตอาสาร่วมกับชุมชนชายขอบโดยเลือก 7 ประเด็นปัญหาในสังคมของกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงเป็นกลุ่มคนชายขอบที่มักจะถูกลืม เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นหัวใจสำคัญที่มอส.นำมาใช้


คนรุ่นใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง thaihealth


หมิว-จิราพร เครือสมบัติ นักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จ.อุบลราชธานี ที่เรียนจบด้านสังคมสงเคราะห์และทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมา หมิวบอกถึงสาเหตุที่สมัครมาร่วมโครงการนี้และเลือกศึกษาหัวข้อ "คนรุ่นใหม่ก้าวพลาด" เพราะอยากรู้ว่า คนรุ่นใหม่คิดอะไรอยู่ ด้วยตัวเธอผ่านงานสังคมมานาน และในฐานะ ทำงานกับกลุ่มเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนที่จะกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม ซึ่งมีความคิดที่จะรวมกลุ่มเด็กเหล่านี้ เพราะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเรียน กศน. ซึ่งมีช่วงเวลาที่ว่างมาก จึงคิดว่าจะรวมกลุ่มเพื่อสร้างกิจกรรม หางานให้เด็กได้ทำ เป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่


หมิว เล่าถึงประสบการณ์การได้มาร่วมกิจกรรม และลงพื้นที่พร้อมพูดคุยกับน้องๆ ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก รวมถึงได้คุยกับ ป้ามล ทิชา ณ นคร ในเรื่องการฟื้นฟูศักยภาพเด็ก กิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัว ที่จะทำให้เด็กมีความสัมพันธ์กับครอบครัว เพราะที่ผ่านมาเด็กมักมีความสัมพันธ์ไม่ดีนักกับครอบครัว ซึ่งตรงและได้ประโยชน์กับการทำงานของตนเองมาก สามารถนำไปใช้ได้ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่ต้องดูแล ซึ่งมีเด็กในศูนย์ฝึกประมาณ 400 กว่าคน ปัญหาส่วนใหญ่ที่เด็กรับโทษคือเรื่องยาเสพติด


เธอยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ส่วนหนึ่งมีรากลึกจากครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ลืมถอดบทบาทหน้าที่จากสังคมเมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านใช้การออกคำสั่งกับลูก เกิดความกดดันมากเกินไป บางคนตามใจลูกแต่ไม่ได้เข้าใจเด็กว่าต้องการอะไร เธอจึงเห็นว่า ปัญหาอาชญากรเด็กไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคล แต่เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ซึ่งแม้จะแก้ยาก แต่ก็เชื่อว่า แก้ไขได้ โดยเราต้องเปลี่ยนทัศนคติก่อน สร้างมายด์เซ็ทใหม่


"การทำงานกับผู้ปกครองต้องทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ปกครองคิดกับเด็กคิดมันไม่ตรงกัน ต้องรับฟังเสียงเด็ก ให้มาก จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง" หมิวกล่าว


ด้าน หญิง-จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ทำงานชุมชนในพื้นที่บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันทำงานด้านการให้ข้อมูลกับชาวบ้านที่ได้รับหรือกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน การได้มาเรียนรู้หลักสูตรในครั้งนี้ ได้รับประโยชน์ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ได้พัฒนาตนเองจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การโต้วาที ตลาดนัดแลกเปลี่ยนความเป็นตัวตนของเพื่อนๆ ที่มาจากที่ต่างๆ ซึ่งค้นพบความจริงของคนว่ามีความแตกต่างหลากหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มาสะกิดตัวเองว่า เรายอมรับได้หรือไม่ในความแตกต่างนั้น แต่อย่างน้อยเราก็รู้ตัวว่าเรารับได้ระดับไหน


สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ หญิง เลือกศึกษาปัญหาสังคมหัวข้อ  "คนพิการ"


"คนพิการ คือคนชายขอบสำหรับเราที่สุด เพราะไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน เป็นเรื่องที่ห่างจากตัวเราที่สุด และหลุดจากความคิดว่า เขาคือคนที่น่าสงสารคนที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ไปไม่ได้เลย แต่เมื่อได้ลงมาสัมผัสความจริงมันเปลี่ยนความคิดว่า เขาก็คือคนเหมือนเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนพิการไม่ใช่คนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาได้ทันที ต้องใช้เวลาและก็ต้องยอมรับว่ากว่าที่เขาจะลุกขึ้นมาได้นั้น เพราะสังคมกดเขาเอาไว้ ฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหา คือ ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ด้วยการเปลี่ยนมุมมองความคิด อธิบายให้คนใกล้ตัวได้เข้าใจ" หญิงกล่าว


เพราะเธอพบแล้วว่า การผลิตซ้ำของ แนวคิดว่า 'ความพิการคือความผิดปกติ' คือรากเหง้าที่สำคัญของปัญหา ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ ได้เลย โดยเปลี่ยนมุมมองว่า "ความพิการ คือ เรื่องปกติ"


เพราะ "คนพิการ" ไม่ได้ต่างอะไรจากคนทั่วไป เพียงเขามีความต้องการที่พิเศษกว่าก็เท่านั้นเอง คนพิการ ไม่ได้ต่างอะไรจากคนทั่วไปเพียงเขามีความต้องการที่พิเศษกว่า

Shares:
QR Code :
QR Code