“คนบวชใจ” นำทัพทำความดีเยี่ยมผู้ป่วยธัญญารักษ์

หวังใช้กำลังใจบำบัดคนติดเหล้า เลิกได้สำเร็จ

 

“คนบวชใจ” นำทัพทำความดีเยี่ยมผู้ป่วยธัญญารักษ์ 

 

ขึ้นชื่อว่า เหล้า มันคือเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อร่างกายเราเลยแม้แต่น้อย แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ยังคงดื่มมันอยู่ แถมบางคนเรียกได้เลยว่าเป็น คนติดเหล้า ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเราที่มีมานาน แต่ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวรสักที

 

ทั้งนี้ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิเพื่อนหญิง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการจัด กิจกรรม “คนบวชใจ จากเหล้าสู่กำลังใจ” ที่สถาบันธัญญารักษ์  เพื่อเดินหน้าให้กำลังใจผู้ป่วยจากแอลกอฮอล์ และสานต่อโครงการรณรงค์  “งดเหล้าเข้าพรรษา” โดยมีผู้ปฏิญาณตนเลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษาหรือ  “คนบวชใจ” มาเยี่ยมเยือนผู้ป่วยจากพิษแอลกอฮอล์ เพื่อให้พวกเขามีกำลังใจที่จะเลิกอย่างจริงจัง

 

นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ชมรมคนบวชใจนั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก “โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่เกิดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก  โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ปฏิญาณตนจะงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาทั่วประเทศ

 

การสร้างคนต้นแบบ  คนงดเหล้า หรือคนบวชใจ ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา  ไม่ใช่แค่เพียงว่าให้คนเหล่านี้ได้ตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เป็นสิ่งที่ดี   แต่ยังเป็นการชี้ให้ผู้ที่กำลังเลิกเหล้าได้เห็นถึงแบบอย่างที่ดีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีกิจกรรมเสริมอยู่ตลอด เพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และยังได้รับการดูแลที่ดีจากภาคีเครือข่าย “งดเหล้าเข้าพรรษา  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์  ดังนั้น จึงเป็นที่มาในการร่วมมือกับสถาบันธัญญารักษ์ ซึ่งเป็นสถาบันให้บริการบำบัดผู้ที่ติดแอลกอฮอลล์และสิ่งเสพติดทุกประเภท ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ นายจะเด็จกล่าว

 

          ด้าน ร.ท.นพ.สมิต  วัฒนธัญญกรรม ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์และอดีตรองผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดกับการบำบัดผู้ป่วยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในแง่ของการรักษาตัวของผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลอันรวมไปถึงการบำบัดด้วยยาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรักษา  แต่การสร้างกำลังใจก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถช่วยบำบัดผู้ป่วยได้ ซึ่งวิธีการสร้างกำลังใจนั้นต้องมาจากสิ่งแวดล้อมและครอบครัวเป็นหลัก

 

ในช่วงแรกๆ อาจเป็นเรื่องยาก แต่หากได้กิจกรรมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น เพราะเกือบ 40% ของผู้ป่วยจะหันกลับไปเสพแอลกอฮอล์อีก แม้ว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการบำบัดแล้วก็ตาม ที่สำคัญ อยากให้ทุกโรงพยาบาลควรที่จะเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการบำบัดกับผู้ป่วยใหม่  ไม่ใช่เพียงแค่การให้ยาและบอกให้กลับบ้าน แต่ต้องเป็นการบำบัดทางยาและกิจกรรมที่ต่อเนื่องกัน เพื่อให้ได้ผลอย่างแท้จริง  ร.ท.นพ.สมิต กล่าว

 

            ในส่วนของโรงพยาบาลธัญญารักษ์นั้น ในปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยแอลกอฮอล์รวมทั้งสิ้น 1,554 คน ซึ่งแบ่งเป็นชาย 1,278 คน และหญิง 276 คน  

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าหดหู่ใจอย่างมาก เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดเพียง 13 ปีเท่านั้น แต่ต้องเข้ารับการบำบัด และอายุสูงที่สุดคือ 70 ปี

 

กิจกรรมบวชใจ งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นหนึ่งในกิจกรรมต้นแบบ  ซึ่งเปิดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ที่กำลังเลิกเหล้า  กิจกรรมนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้ครอบครัว ตลอดจนสังคมได้รู้และทำความเข้าใจกับผู้ต้องการเลิกเหล้า อีกทั้งยังเป็นการจูงใจสำหรับนักดื่มที่อยากจะเลิกเหล้าให้เห็นแบบอย่างที่ดี

 

นายวีระนันท์  โพธิสุวรรณ  ผู้ที่ชีวิตถูกทำลายด้วยเหล้า สู่ต้นแบบคนเลิกเหล้า กล่าวว่า ตนดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 18 ปี สุขภาพย่ำแย่ ครอบครัวแตกแยกเพราะเหล้า  ไม่มีเงิน เก็บขยะกิน เหล้ามันทำให้ไม่มีสติ  ตนจึงตั้งใจจะงดเหล้าให้ได้โดยเริ่มจากกิจกรรมนี้ และปฏิญาณตนว่าจะเลิกเหล้าตลอดไป

 

          หลังจากที่ผมเข้าร่วมบวชใจใน ชีวิตของผมเปลี่ยนไปมากอย่างเห็นได้ชัด จึงอยากให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างการเลิกเหล้าดูผมเป็นตัวอย่าง  ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสุขภาพผมดีขึ้น  มีเงินเหลือเก็บและชีวิตครอบครัวก็ดีขึ้น โดยส่วนตัวผมคิดว่าการเลิกเหล้าสำคัญสุดอยู่ที่ใจ  อย่าวอกแวก ขอให้ตั้งใจ เทคนิคของผมคือคิดถึงลูกเข้าไว้ นายวีระนันท์ กล่าว

 

            การเลิกเหล้ามันไม่ยากอย่างที่คิด มันอยู่ที่ใจ สำหรับผู้ที่ยังไม่ยอมเลิก ขอให้เลิกเถอะ เพราะมันไม่ผลดีกับใครเลยแม้แต่น้อย กลับตรงกันข้ามทั้งสุขภาพร่างกายก็ทรุดโทรม คนรอบข้างรังเกียจ ชีวิตครอบครัวล้มเหลว ทั้งหมดนี้เพราะฤทธิ์ของเหล้าทั้งสิ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหันหลังให้มันซะ!!

 

 ตั้งใจจริง เชื่อเถอะ!!! คุณเอาชนะมันได้ไม่ยากเย็น……

 

 

 

 

 

เขียนโดย:ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content  www.thaihealth.or.th

 

 

 

Update:19-09-51

 

           

 

 

 

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code